One of three columns
One of three columns
One of three columns

“เพราะ Consumer Insights กับ Visual Trends แปรผันตามกันเสมอ” สนทนากับ Yuri Endo และ Paul Foster สองมันสมองแห่ง Getty Images

SHARE

KEY FOCUS

  • ไดนามิกในเรื่องวัฒนธรรม ประชากรศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ล้วนส่งผลต่อทัศนคติความชื่นชอบใน ‘ภาพ’ ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เอเจนซี่ภาพรวมถึงนักการตลาดจำเป็นต้องรู้ถึงวิถีการเลือกใช้ภาพที่ตรงใจ และตอบโจทย์ใหม่ๆ เสมอ
  • สามบุคลิกและเทรนด์ของภาพที่จะมาแรงที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้คือ Authenticity, Inclusivity และ Sustainability

Getty Images พูดถึงการใช้ Creative Insights เป็นแพลทฟอร์มในการวิเคราะห์ ‘เทรนด์ภาพ’ ของตลาดอนาคต คุณช่วยอธิบายถึงแนวคิดนี้หน่อย
Foster: “ใช่ครับ ที่ Getty Images เราเป็นเอเจนซี่เดียวในโลกที่มีแผนก Creative Insights ทำงานวิเคราะห์เทรนด์การใช้ภาพกันแบบต่อเนื่องตลอดเวลา เราเรียกพวกเขาว่าทีม Creative Researcher ที่ต้องคอยนำเสนอบทเคราะห์และอัพเดทความสนใจด้านภาพใหม่ๆ ของผู้บริโภคมาให้ทีมงานฝ่ายผลิตและช่างภาพของเราทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมสะท้อนถึงความต้องการ ‘ใช้ภาพ’ ของแบรนด์ต่างๆ ในทิศทางที่สอดคล้องกัน”

Endo: “ในกระบวนการค้นหาวิเคราะห์ inisight นี้ ทีมงานของเราจะใช้ big data จากแหล่งต่างๆ มาทำงานร่วมกัน ทั้งข้อมูลการเสิร์ชหาภาพบนแพลทฟอร์มของเราเอง ข้อมูลการซื้อภาพของลูกค้ากลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมา รวมถึงวิธีการอื่นๆ ซึ่งข้อมูลเป็นล้านๆ ที่เราเก็บได้ในทุกๆ วันก็จะถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อระบุถึงความเปลี่ยนแปลง ลักษณะความสนใจ และแนวทางการใช้ภาพประกอบในโลกของการสื่อสาร ไม่ว่าจะในบริบทของการทำงานโฆษณา การสื่อสารแบรนด์ ฯลฯ ไดนามิกของผู้คนในโลกเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ครับ ประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ประชากรศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ล้วนส่งผลต่อทัศนคติความชื่นชอบใน ‘ภาพ’ ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ช่างภาพของเราต้องพัฒนาสไตล์การทำงานอยู่ตลอด ซึ่งการจะทำธุรกิจในฐานะเอเจนซี่ขายภาพให้เติบโตนั้น ทีมงานของเราต้องให้โจทย์การผลิตภาพลักษณะใหม่ๆ กับช่างภาพอย่างแม่นยำ รวมถึงแนะนำการออกแบบ mood & tone ให้ตรงใจตลาดอยู่เสมอ”

**สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูล Visual Trend Analysis ของ Getty Images สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ (หัวข้อ Creative Insights)

Visual Trends หลักๆ ตอนนี้มีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องจับตา
Endo: “สองเทรนด์หลักที่เราสังเกตได้ชัดที่สุดคือเรื่อง ‘Inclusivity’ และ ‘Sustainability’ ค่ะ มันเป็นหัวข้อที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่เราเก็บข้อมูลมา คำว่า Inclusivity ในที่นี่เราหมายถึงภาพความหลากหลายของมนุษย์ ในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศทุกวัย ทุกเพศสภาพ ทุกสถานะสังคม ทุกสภาวะร่างกาย ฯลฯ ในขณะที่ Sustainability นั้นหมายรวมถึงความยั่งยืนในทุกๆ แง่มุม ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ อาหารการกิน การอยู่อาศัย ฯลฯ”

Foster: “ส่วนในเรื่องบุคลิกของภาพ มู้ดแอนด์โทน ภาพรวมที่ผู้คนสมัยนี้ชื่นชอบเป็นพิเศษคือความ ‘Authentic’ ซึ่งหมายความว่าภาพที่โน้มน้าวใจคนยุคนี้ได้จะต้องสื่อถึงความแท้ ความไม่ปรุงแต่ง ยกตัวอย่างเช่นภาพของคนธรรมดาๆ ในบริบทชีวิตธรรมดาๆ ที่มันดูงดงามเป็นธรรมชาติ มีมิติลุ่มลึกทางอารมณ์ คือยิ่งดิบยิ่งจริงเท่าไรยิ่งดีเท่านั้นครับ ยกตัวอย่างภาพจากมุมมองของคนถ่ายที่ ‘จับโมเมนท์’ กันแบบสดๆ  ไม่ต้องมาดีไซน์องค์ประกอบอะไรมากมายเหมือนการถ่ายภาพโฆษณา เราเรียกภาพสไตล์นี้ว่า ‘Mobilesque’ เพราะมันได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนโดยตรง

Mobilesque’ คือสไตล์ภาพที่เราทุกคนเข้าถึงง่ายและชอบแชร์ต่อ ยอดขายของภาพสไตล์นี้พุ่งทะยานขึ้นมหาศาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา”

เทรนด์ภาพเหล่านี้มีความเชื่อมโยงอย่างไรกับการสร้างแบรนด์และธุรกิจ
Foster: ผมเชื่อว่านักการตลาดและเจ้าของแบรนด์ย่อมต้องการสร้างงานที่ตอบสนองต่อทัศนคติของสังคมถูกไหมครับ อย่างในประเด็นเรื่อง Inclusivity นี้คือถ้าแบรนด์ของคุณไม่พยายามสื่อสารว่าคุณพร้อมจะเชื่อมโยงและเป็นตัวแทนของคนทุกหมู่เหล่า ซึ่งบางทีอาจจะลงลึกไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือกระทั่งกลุ่มวัฒนธรรมย่อยต่างๆ แบรนด์ของคุณก็อาจจะถูกมองว่าหัวเก่า ตกเทรนด์ หรือเป็นพวกเลือกปฏิบัติ (discriminated) ได้นะ เพราะคุณกำลังสื่อสารว่าคุณไม่รับรู้หรือไม่เคารพต่อค่านิยมใหม่ที่สังคมกำลังให้ความสำคัญ คนรุ่นใหม่จะมองว่าแบรนด์คุณไม่เรียล และไม่สะท้อนภาพที่เป็นจริงของสังคม ซึ่งมันกำลังเป็น ‘คุณค่าใหม่’ ที่เขามองหาจากแบรนด์ในโลกยุคนี้

“Authenticity คือการสะท้อนภาพความเป็นจริงในโลกและสังคม ซึ่งกำลังเป็นคุณค่าใหม่ที่ผู้บริโภคมองหา”

Endo:  “นอกจากนั้นข้อสังเกตที่เราพบคือผู้บริโภคจะตอบสนองดีมากกับแบรนด์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ค่านิยม ความคิดอ่าน และการกระทำของแบรนด์นั้นๆ ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การสร้างภาพหลอกว่ามีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน แต่จริงๆ แล้วทำทุกอย่างไปเพื่อผลกำไรเท่านั้น นักการตลาดจะต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคสัมผัสได้ถึง ‘ความมุ่งหมาย’ หรือ ‘เหตุผล’ ที่แบรนด์ควรจะคงอยู่ต่อไปในชีวิตของพวกเขาต่อไป ทุกวันนี้การมอบสินค้าหรือบริการที่คุ้มค่าเงินนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดแล้ว แบรนด์ต่างๆ จำเป็นต้องมีบทบาทที่ดีต่อโลกและชุมชน และต้องนำเสนอภาพเหล่านั้นให้คนคล้อยตามเชื่อถือให้ได้”

พวกคุณทำงานกับช่างภาพทั่วโลกอย่างไร เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์หรือภาพที่ตรงใจตลาด
Foster:  “Getty Images มีช่างภาพกว่า 200,000 คนทั่วโลกที่ทำงานกับเรา โดยราวๆ 100,000 คนในนั้นเป็นช่างภาพที่ทำงานกับเราแบบเอ็กคลูซีฟด้วย (คือไม่ทำให้กับเอเจนซี่อื่นๆ) วิธีการทำงานของเราคือเราต้องให้บรีฟกับช่างภาพเหล่านี้แบบเฉพาะเจาะจง คุยกันตัวต่อตัวบ้าง ผ่านฟอรั่มบ้าง หลายครั้งก็บรีฟกันผ่านเว็บไซต์ภายใน หรือแอพลิเคชั่นที่เราพัฒนาขึ้นเอง เพื่อที่พวกเขาจะได้ทำการบ้านกลับมาได้ถูกต้อง ผลิตผลงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้จริงๆ  ปัจจุบันทีม Art Director ซึ่งเป็นผู้ให้โจทย์ของเราก็นั่งทำงานกันในหลายซีกโลกครับ ส่วนมากอยู่ในยุโรปและอเมริกา แต่ถ้าในเอเชียตอนนี้ก็มีที่ฮ่องกงและโตเกียวสองแห่ง”

และสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการผลิตภาพที่เฉพาะเจาะจงขึ้นเป็นพิเศษ ทาง Getty Images เราก็สามารถทำให้ได้นะครับ โดยเราจะพัฒนาบรีฟอย่างละเอียดร่วมกับลูกค้าก่อน จากนั้นก็ให้การบ้านกับช่างภาพของเราไปผลิตผลงานออกมา โดยบรีฟของเราจะลงลึกถึงสไตล์ภาพ อารมณ์ภาพ และอาร์ตไดเร็กชั่นที่แบรนด์นั้นๆ ต้องการครับ”

อะไรทำให้นักการตลาดเชื่อถือการวิเคราะห์เทรนด์ภาพของ Getty Images มีกรณีศึกษาอะไรที่พิสูจน์ความแม่นยำของพวกคุณบ้าง
Endo  “ทุกวันนี้งานวิจัยของธุรกิจ FMCG อย่าง Unilever ก็เผยว่า 33% ของผู้บริโภคทั่วโลกระบุว่า ประเด็นเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นมีผลต่อการตัดสินใจเลือกแบรนด์ที่พวกเขาจริงๆ  ธุรกิจจำนวนมากเริ่มเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของการสร้างกิจกรรมการตลาดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความยั่งยืนนี้ ยกตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เทรนด์เรื่องการลดปริมาณ carbon footprint หรือ train travel ก็กำลังมาแรงสุดๆ ส่วนในอุตสาหกรรมแฟชั่นก็มีแบรนด์อย่าง Stella McCartney ที่ทำเรื่องนี้ได้ดีจนผู้คนเชื่อมั่น จากฐานข้อมูลของเรามีการเสิร์ชคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับ Sustainability เพิ่มขึ้นเยอะมาก”


กับหัวข้อเรื่อง Inclusivity ล่ะ ในอนาคตแบรนด์ต่างๆ น่าจะนำเสนอภาพมาสู่ผู้บริโภคในลักษณะไหน
Endo:  “พูดรวมๆ คือภาพที่สื่อถึงทัศนคติและการกระทำของแบรนด์ที่เปิดรับต่อความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ค่ะ เช่นหัวข้อภาพที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องความเท่าเทียม และการให้โอกาสการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างเต็มศักยภาพ ในบริบทของโลกความจริงด้วยนะ ไม่ใช่โลกที่ปรุงแต่งขึ้นมา”

“ทุกวันนี้ภาพโฆษณาที่ยกย่องพลังความมุ่งมั่นของผู้หญิง ความกล้าที่จะก้าวข้ามอุปสรรคของผู้พิการ การให้พื้นที่กับชนกลุ่มย่อยในสังคม ความมุ่งมั่นกล้าหาญของมนุษย์ หรือการตีความ ‘ความเจ๋ง’ และ ‘ความแมน’ ของผู้ชายในมิติที่หลากหลาย  ภาพพวกนี้คือตัวอย่างของเทรนด์ที่มาแรงมาก

และอีกหนึ่งเทรนด์ย่อยที่น่าสนใจมากคือภาพความเชื่อมโยงของแบรนด์กับผู้บริโภคเชื้อสายเอเชีย (Asian-centric) ที่ทุกวันนี้กำลังเป็นเหมือนสิ่งหอมหวานของแบรนด์ต่างๆ สังเกตว่าแต่ก่อนในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด หรือซีรีย์ที่ใช้ภาษาอังกฤษ นักแสดงเอเชียจะถูกจัดให้รับบทรองๆ อยู่ตลอด ไม่เคยเป็นพระเอกนางเอกเต็มตัว แต่ปัจจุบันตลาดใหม่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในอุตสาหกรรมบันเทิง เรามีนักแสดงนำที่เป็นชาวเอเชียมากขึ้น บางเรื่องมีพล็อตที่นำเสนอค่านิยมและความคิดอ่านแบบเอเชียนอย่างชัดเจน ซึ่งก็ได้รับฟีดแบคที่ดีจากสังคมวงกว้าง ทั้งในมุมของการสร้างสรรค์เนื้อหาที่แปลกใหม่ รวมถึงตัวเลขธุรกิจที่สะท้อนกลับมาก็สวยงามด้วย

“หลายๆ แบรนด์ในโลกรู้แล้วว่าถ้าพวกเขาต้องการขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น และยังต้องการอยู่ในสปอตไลท์ของการบริโภคในอนาคต พวกเขาจะต้องสร้างเนื้อหาที่สะท้อนถึงความเข้าใจต่อผู้บริโภคชาวเอเชียให้ได้อย่างเฉียบคม”

ทุกวันนี้งานของ Getty Images ช่วยสนับสนุนนักการตลาดได้ในแง่มุมไหนบ้าง
Foster:  “ผมมองว่าเราแสดงบทบาทสำคัญได้ในสามส่วนหลักๆ ครับ หนึ่งคือการเป็นแพลทฟอร์มของผู้ผลิตภาพถ่ายที่จะตอบโจทย์การตลาดและค่านิยมของสังคมได้อย่างทันท่วงที สามารถช่วยให้แบรนด์ของลูกค้าสร้างจุดยืนที่แตกต่าง ผูกใจผู้บริโภค และมอบภาพลักษณ์เชิงบวกอันนำไปสู่การเติบโตของแบรนด์ได้ในระยะยาวได้  ส่วนที่สองคือเรามีฐานข้อมูล และ insights ด้านเทรนด์ภาพที่ชี้นำจากความสนใจของตลาดจริง ตัวเลขสถิติและบทวิเคราะห์ของเราเปิดให้นักการตลาดเข้ามาศึกษาติดตามกันได้ตลอดเวลา ส่วนที่สามคือเราสามารถให้คำปรึกษากับลูกค้าถึงการเลือกใช้ภาพให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดตามแต่บริบท หรือโจทย์ที่เฉพาะเจาะจงได้  ที่สำคัญเราทำงานตอบสนองให้กับธุรกิจทุกไซส์ ตั้งแต่บริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ ไปจนกระทั่งแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ผมยืนยันว่าทุกคนสามารถเป็นลูกค้าที่เคารพของ Getty Images ได้ครับ”

เครดิตภาพและวิดีโอ: Getty Images, Lynx, Crazy Rich Asians

SECRET SAUCE:

สำหรับผู้ที่สนใจติดตาม Visual Trends ใหม่ๆ ในโลกงานสร้างสรรค์  เว็บไซต์หลักของ Getty Images เพิ่งปรับปรุงใหม่ให้มีฟังก์ชั่นที่เป็นมิตรกับผู้ใช้มากยิ่งขึ้น คุณสามารถเสิร์ชดูภาพที่สนใจได้อย่างง่ายดาย และสามารถเข้าไปอ่านบทวิเคราะห์เทรนด์ต่างๆ ได้ในหน้า Creative Insights ของพวกเขา ซึ่งมีอัพเดทใหม่กันทุกสัปดาห์

รูปเพิ่มเติม

ผู้เขียน
วิสาข์ สอตระกูล

อดีตนักโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นนักเล่าเรื่อง นักเขียน และบรรณาธิการบทความด้านธุรกิจสร้างสรรค์ งานออกแบบ และวัฒนธรรมเมือง อย่างมีความสุข

สนทนากับ จารุพัชร อาชวะสมิต ว่าด้วยการแร่แปรธาตุกับนวัตกรรมสิ่งทอแนวดิ่ง AUSARA SURFACE

SHARE

KEY FOCUS

  • Ausara Surface คือแบรนด์ผ้าทอจากเส้นใยโลหะ ที่มองหาช่องว่างทางการตลาดด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน
  • เนื่องจากเป็นแบรนด์ไซส์เล็กที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งจึงเลือกลงทุนเฉพาะส่วนที่จำเป็น อาทิ ไม่ลงทุนซื้อเครื่องจักรเอง ทำการตลาดด้วยแคตตาล็อกตัวอย่างที่ส่งให้นักออกแบบโดยตรง แทนการไปออกงานแฟร์หรือลงโฆษณาที่ค่าใช้จ่ายสูง
  • ดำเนินธุรกิจบนความรู้และความชำนาญเฉพาะทางอย่างแท้จริง พร้อมป้องกันการลอกเลียนด้วยการแยกส่วนผลิต

ในโลกการตลาดตั้งแต่ยุคดั้งเดิม “4Ps” ที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดีก็คือ ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจำหน่าย (Place) และการส่งเสริมการขาย (Promotion) ซึ่งแม้ทุกวันนี้อาจจะถูกตีความใหม่หรือต่อยอดออกไปอีกหลายเลเยอร์ แต่ท้ายที่สุดแล้วนี่ก็คือหลักการตลาดขั้นพื้นฐานที่นำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ให้กับแบรนด์ทุกประเภท

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงคำว่า “การตลาด” คนส่วนใหญ่มักจะนึกไปถึงกลยุทธ์การจัดการกับ P แค่ 2 ตัว นั่นก็คือการส่งเสริมการขาย (Promotion) และการกำหนดราคา (Price) อาจจะด้วยว่าในตลาดบริโภคทุกวันนี้มันแทบจะไม่มีช่องว่างให้กับสินค้าหรือบริการที่สร้างความ ‘แตกต่าง’ ได้อย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไปแล้ว ทั้งที่จริงๆ หากนักการตลาดแบรนด์ไหนวางกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ได้แบบเหนือชั้น (และเหนือความคาดหมายของผู้บริโภค) คุณก็แทบจะลอยลำสู่ความสำเร็จได้โดยไม่ต้องขับเคี่ยวกับ 3Ps ที่เหลือจนเลือดตาแทบกระเด็น

Ausara Surface แบรนด์สัญชาติไทยแท้ผู้ผลิตนวัตกรรมผ้าทอด้วยเส้นใยโลหะคือบทพิสูจน์ความสำคัญของ P ตัวแรกที่ชัดเจนที่สุด แบรนด์เล็กๆ นี้สร้างสรรค์โดยสองผู้ประกอบการไทยคือ โชษณ ธาตวากร Managing Director ผู้รับหน้าที่หัวหอกด้านการบริหารธุรกิจ และ จารุพัชร อาชวะสมิต Creative Director ผู้ดูแลการออกแบบและผลิตควบคู่ไปกับการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรมที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  คนคู่นี้พานวัตกรรมผ้าทอโลหะก้าวขึ้นสู่สปอตไลท์ของเวทีการออกแบบโลกได้ในเวลาเพียง 4 ปี และได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม นับตั้งแต่โรงแรมเครือหรูอย่าง Aman ไปจนถึงแฟลกชิปสโตร์ของ Louis Vuitton  พวกเขาทำอะไรกับ 4Ps ใน 4 ปีนี้แรกของธุรกิจบ้างจึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

ผ้าทอแนวดิ่ง นวัตกรรมที่เติมเต็มช่องว่างในตลาดและความสะใจส่วนตัว

Ausara Surface มองเห็นช่องว่างในตลาดที่เกี่ยวพันกับเทคนิคการทอผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าที่ใช้เพื่อการตกแต่งอย่าง ‘ผ้าบุ’ (upholstery) ที่ยังคงจำกัดอยู่ที่การทอแบบแนวนอนเป็นส่วนใหญ่ ลองสังเกตสิว่าในท้องตลาดเราแทบไม่เคยพบผ้าที่ทอในแนวดิ่ง (vertical textile) ซึ่งเป็นผ้าสำหรับการโชว์แขวน การทำพาแนลผนัง (wall panel) ซึ่ง Ausara Surface ได้ลองบุกเบิกการทอวัสดุประเภทนี้ขึ้นใหม่เพื่อเป็นทางเลือกให้กับตลาดที่มองหาความแตกต่างโดยเฉพาะ “เริ่มจากการที่เราอยากทำอะไรที่ตอบโจทย์แพชชั่นภายในที่รุนแรงของตัวเอง คือทำแล้วรู้สึกสะใจ นั่นคือการเลิกทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม แล้วหันมาเลือกใช้วัสดุอย่างโลหะหรือแร่ธาตุ ซึ่งไม่เคยมีใครใช้ทอผ้าในเชิงอุตสาหกรรมมาก่อน”

โลหะเป็นวัสดุที่ท้าทายมาก มีคุณสมบัติที่สามารถดึงเป็นเส้นใย และนำมาทอดัดเป็นทรงอะไรก็ได้ จึงเหมาะกับการทำงานประติมากรรมและการทอแนวดิ่งตามที่เราตั้งเป้าไว้

“พวกเราเริ่มจากทองแดงเป็นวัสดุแรก เนื่องจากทำงานง่ายกว่าโลหะชนิดอื่น ในช่วงที่เราเริ่ม (ปีพ.ศ.2559) อุตสาหกรรมสิ่งทออยู่ในขาลง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องกีฬาย้ายฐานการผลิต ทำให้กี่ทอผ้าในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งไม่ได้ทำงานเต็มศักยภาพ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาจะทำงานกัน 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาเหลือให้เราได้เข้าไปทำงานหรอก ตอนนั้นจึงเป็นโอกาสที่เราได้พบกับโรงงานยินดีที่ทดลองทำสิ่งใหม่กับเรา งาน R&D ของเราเริ่มตั้งแต่การเลือกชนิดของโลหะให้วิศวกรของโรงงานทดลองดึงเป็นเส้นใย ปรับแต่งกี่ทอผ้าเพื่อให้รองรับการทอโลหะได้ ฯลฯ ขณะนั้นเราเริ่มตระหนักแล้วว่าเรากำลังสร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในโลก จากทองแดงก็คืบคลานมาสู่ดีบุก ทองเหลือง สเตนเลส ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์ความสะใจส่วนตัวแล้ว มันยังตอบความต้องการของตลาดงานตกแต่งระดับหรูได้ ทำให้การตั้งราคาขายอยู่ในอำนาจของเรา” 

จำกัดต้นทุน กำจัดค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น

แม้จะเป็นผู้คิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมผ้าทอเส้นใยโลหะแนวดิ่งที่เรียกว่า “ไร้คู่แข่ง” แต่ Ausara Surface กลับไม่ได้เริ่มต้นด้วยการลงทุนอย่างใหญ่โตสวยหรู  “พวกเราเริ่มต้นด้วยเงินทุนเพียงหลักแสนเท่านั้น เพราะเราคุยกันอย่างละเอียดเลยว่าต้นทุนส่วนไหนที่ยังไม่ควรลงก็จะไม่ลง เช่นเราจะไม่มีโชว์รูม เราจะ(ยัง)ไม่ออกงานแฟร์ เราจะใช้วิธีทำแคตตาล็อกตัวอย่าง (swatch book) และส่งให้นักออกแบบเลือกใช้โดยตรง หรือเราจะไม่มีออฟฟิศจนกว่าจะจำเป็นจริงๆ อะไรแบบนี้  และที่สำคัญที่สุดคือเราจะไม่เป็นเจ้าของเครื่องจักรหนัก เพราะเรารู้ว่าโลกยุคนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วและเราไม่มีทุนพอที่จะอัพเดทเครื่องจักรใหญ่กันได้บ่อยๆ”

อาศัยที่เราอยู่ในวงการกันมานาน การพีอาร์ก็คือการใช้โซเชียลมีเดียส่วนตัวนี่ล่ะ ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากกลุ่มอินทีเรียร์ดีไซเนอร์อย่างดี เรียกได้ว่าช่วงต้นปีทำ R&D ปลายปีก็ผลิตล็อตใหญ่ส่งลูกค้าเลย ธุรกิจนี้จึงปันผลได้ตั้งแต่ปีแรก

นวัตกรรมสร้างสรรค์ = ผลิตภัณฑ์ต้องขายตัวเอง

ด้วยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีใครเหมือนและดันเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ Ausara Surface ใช้งบประมาณด้านการส่งเสริมการขายที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับสินค้าคู่แข่งประเภทอื่น “สี่ปีที่ผ่านมาเรายังไม่เคยจ่ายเงินทำการตลาดแบบจริงจังเลย สื่อที่เราได้ลงเกิดจากการที่เขามาขอสัมภาษณ์เอง ทั้งสื่อในประเทศและต่างประเทศ เรียกว่าเป็น earned media ทั้งหมด”

เราเห็นแล้วว่าโปรดักท์สามารถเป็นหัวใจของการตลาดได้ เราจึงทยอยออกแบบคอลเล็กชั่นที่สองที่สามตามมาโดยเร็ว เพราะรู้แล้วว่าเรามาถูกทาง นั่นคือการทำสิ่งที่ไม่เหมือนใครในโลกและเป็นสิ่งที่คนต้องการ”

ในการทำคอลเล็กชั่นต่อๆ มา ทั้งสองก็ยังเลือกวัสดุจากสัญชาตญาณ (Intuition) กันเป็นหลัก แต่คำว่าสัญชาตญาณนี้ไม่ได้มาจากความรู้สึกล้วนๆ มันถูกอธิบายว่าเป็นกลไกการประมวลเหตุผลของสมองในเวลาอันรวดเร็วจนแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกเองในที่สุด “พวกเราสนใจแนวคิดการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) เพราะสสารทุกชนิดในโลกจริงๆ ก็คือธาตุ ฉะนั้นมันน่าจะนำกลับมาใช้ได้หมด เราไปเจอเข็มขัดนิรภัยที่ขายทิ้งถูกๆ จากการผลิตผิดสเป็ค ก็เลยไปลองเหมามาทำผลิตภัณฑ์ตัวอย่างและส่งไปร่วมแสดงในนิทรรศการ ‘Pure Gold เปลี่ยนขยะเป็นทอง’ ของ TCDC  ไม่นานก็มีลูกค้าติดต่อเข้ามามากมาย ทั้งโรงแรมในเครือ Shangri-La เครือ Rosewood เครือ Aman ฯลฯ  ส่วนก้าวต่อๆ ไปในอนาคตเราวางแนวทางกันแล้วว่า Ausara Surface จะออกแบบและผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเสมอ คือสวยอย่างเดียวไม่พอแล้ว แต่ต้องเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย”

“ในฐานะนักออกแบบวัสดุ เราสามารถเล่นแร่แปรธาตุของต่างๆ ได้หมด ทำให้คนไม่รู้เลยก็ได้ว่าสิ่งนี้เคยเป็นขยะมาก่อน นี่คือความเป็นนวัตกรรมที่ไม่มีคู่แข่งนะ คุณสามารถตั้งราคาในระดับที่ลูกค้าจ่ายได้โดยไม่ต้องตัดราคากับใคร”
แยกส่วนผลิต ป้องกันการเลียนแบบ และตั้งราคาให้เมคเซ้นส์

เมื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ใดก็ตามได้รับความนิยมสูงในท้องตลาด ย่อมจะต้องประสบปัญหาสุดคลาสสิก นั่นก็คือการลอกเลียนแบบ  ปัญหาข้อนี้ Ausara Surface สร้างเกราะป้องกันตัวด้วยกลยุทธ์การแยกส่วนผลิต “คือการที่เราไม่ลงทุนเครื่องจักรใหญ่ทำให้เราต้องจ้างซัพพลายเออร์ในการผลิตแทน แต่เราจะใช้วิธีแยกการผลิตออกเป็นส่วนๆ เพื่อป้องกันการเลียนแบบ เช่นโรงงานหนึ่งผลิตวัสดุ อีกโรงงานหนึ่งนำไปทอ ส่วนงานฟินิชชิ่งกับงานติดตั้งเราทำเอง อย่างนี้เป็นต้น”

ในแง่กลยุทธ์การวางตำแหน่งราคาสินค้า Ausara Surface จะดูว่าเดิมสินค้าในกลุ่มนี้ขายกันราคาประมาณไหน และลูกค้ายอมจ่ายกันที่เท่าไร จากนั้นจึงค่อยบวกมูลค่าความเป็นนวัตกรรมเข้าไปอีกนิด ทำให้วางราคาขายได้สูงกว่าเจ้าอื่นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ลูกค้าจ่ายได้ “ลูกค้าที่ต่างกันก็ต้องใช้วิธีการขายที่ต่างกันไป เช่นตลาดในประเทศคุณขายตรงกับนักออกแบบเอง ส่วนตลาดต่างประเทศขายผ่านตัวแทนแบบเอ็กซคลูซีฟ คือใช้ตัวแทนขายในเมืองใหญ่จำนวนแค่หยิบมือ แต่ต้องเลือกรายที่เขาเข้าใจโปรดักท์เราจริงๆ และมีคอนเน็กชั่นในมือครบ ท้ายสุดไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ต้องมองให้รอบก่อน ดูให้ชัดว่าคุณควรจะจ่ายเงินกับสิ่งไหน หรือไม่จ่ายเงินกับสิ่งไหนบ้าง”

…อาจจะฟังดูเป็นวิธีคิดที่แสนธรรมดา แต่ท้ายที่สุดแล้วอย่าลืมว่าการตลาดก็คือเรื่องของ common sense ง่ายๆ นี่แหละขึ้นอยู่ที่ sense ของคุณกับ sense ของผู้บริโภคจะจูนกันติดได้หรือไม่…ก็เท่านั้น”

ภาพประกอบ: Ausara Surface

CREATIVE JUICE

  • สัญชาตญาณในการทำธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ แต่มันจะเกิดจากการประมวลผลประสบการณ์ที่คุณสั่งสมมาโดยอัตโนมัติ
  • การทำสิ่งที่ไม่เหมือนใครมีหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการพลิกแพลงสิ่งที่มีอยู่แล้วเพื่อหาช่องว่างใหม่ในตลาด เช่น การเปลี่ยนเทคนิคทอผ้าจากแนวนอนมาเป็นแนวตั้ง เปลี่ยนเส้นใยผ้ามาเป็นเส้นใยโลหะ ใช้วัสดุรีไซเคิลทดแทนวัสดุใหม่ ฯลฯ
รูปเพิ่มเติม

ผู้เขียน
ชัชรพล เพ็ญโฉม

ชอบคิด ชอบเขียน ชอบเดินทาง ชอบชิม ชอบดู ชอบฟัง ชอบสิ่งเร้าจิตทั้งปวง

ภาพบรรยากาศ งานสัมมนา MARKETING IN RETAIL “ตีโจทย์การตลาด สู่ขุมพลังค้าปลีกยุคใหม่”

SHARE

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2561 ทางสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยได้มีการจัดงานสัมมนา Marketing in Retail “ตีโจทย์การตลาด สู่ขุมพลังค้าปลีกยุคใหม่” ณ ห้องแอมเบอร์ 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งปีนี้ เป็นครั้งแรกที่ทางสมาคมการตลาดฯได้เป็นหนึ่งในพันธมิตรในการร่วมจัดสัมมนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน RetailEx Asia 2018 เพื่อเพิ่มเติมความรู้ที่สำคัญด้านการตลาดในโลกรีเทลยุคใหม่ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยและนักการตลาด โดยเฉพาะการอัพเดตเทคโนโลยี ที่จะช่วยเติมความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับโลกรีเทลยุคใหม่ จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ทั้งด้านช่องทางการขาย ด้าน payment ด้าน media ด้าน e-commerce และ Marketing Solution รวมถึงศาสตร์ของการสร้างความเข้าใจผู้บริโภค,การสร้างแบรนด์ที่จะนำไปสู่ความแตกต่าง ณ จุดขาย,การใช้ประโยชน์จากข้อมูล big data จำนวนมหาศาลมาเปลี่ยนเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด, และ เรื่องราว case study ที่น่าสนใจของ Omni-Channel การเชื่อมต่อช่องทาง offline to online อย่างไร้รอยต่อ
โดยมี คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับและเปิดงาน

ภายในงานรับฟังการบรรยายจากกูรูผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการตลาดค้าปลีก อาทิ

  1.คุณสรินพร จิวานันต์  Managing Director, Envirosell (Thailand) Co., Ltd
หัวข้อ  “Shopper marketing” รีเทลเทรนด์ พร้อมอินไซต์ ทำอย่างไรให้สามารถจับหัวใจผู้ซื้อ
  2.คุณบังอร สุวรรณมงคล  MD & Founder Hummingbirds Consulting
หัวข้อ “Impact of branding” สร้างแบรนด์อย่างไรให้โดดเด่น ณ จุดขาย อะไรเป็นจุดจับความสนใจผู้บริโภค
3.คุณธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์
Managing Director, Media APAC Dunnhumby (Thailand)
หัวข้อ  “Marketing intelligence : กลยุทธ์การถอดรหัสผู้บริโภคด้วย Big Data”
  4.คุณผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO และ Co-Founder บริษัท Nasket Retail
หัวข้อ “Omni-Channel, Future of shopping experience: วิถีใหม่แห่งการช็อปปิ้งไร้รอยต่อ

รูปเพิ่มเติม

ผู้เขียน
MAT TEAM

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

สมัครรับข่าวสาร

logo