Knowledge

พอแล้วดี…จริงไหม? เรียนรู้แนวทางสร้างธุรกิจให้สำเร็จอย่างพอดีและมีความสุข

SHARE

KEY FOCUS

  • หัวใจของธุรกิจที่สำเร็จแบบพอดีต้องมีพื้นฐานของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ห่วงที่หนึ่งคือ ‘รู้จักตน-ประมาณตน’ ห่วงที่สองคือ ‘มีเหตุ-มีผล’ ห่วงที่สามคือ ‘สร้างภูมิคุ้มกัน’ และอีก 2 เงื่อนไขที่ต้องใช้ควบคู่กันเสมอก็คือ ‘ความรู้’ กับ ‘คุณธรรม’ ในการทำธุรกิจนั่นเอง
  • นอกเหนือจาก 4Ps อันเป็นหลักสากลทางการตลาดแล้ว อีก 3Ps ที่จะช่วยสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืนได้ในยุคนี้คือ
    1) Profit ความหวังในกำไรที่พอเหมาะพอดี 2) People ความใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงจรธุรกิจทั้งหมด
    3) Planet ความห่วงใยต่อโลกในวันข้างหน้า

เมื่อได้ยินคำว่า “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หลายคนมักนึกไปถึงภาพการทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือวิถีชีวิตแบบพออยู่พอกิน หรือการความมั่นคงทางอาหารที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองแลกซื้อ ฯลฯ แต่การเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี The Creator 4 ทำให้เราได้เรียนรู้หลายมุมมองใหม่ๆ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโลกธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด และทำให้ธุรกิจ ‘เติบโตได้’ อย่างยั่งยืนแท้จริง

3 ห่วง 2 เงื่อนไข สู่การสร้างธุรกิจที่เติบโตอย่างพอดี

เมื่อคิดจะลงทุนทำธุรกิจสักอย่าง หลายคนเริ่มต้นจากโจทย์ข้อแรกว่า “ฉันอยากจะทำอะไร” ซึ่งนั่นก็ถูกต้องแล้ว เพราะแพชชั่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาได้ แต่โจทย์ข้อต่อๆ มาที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้แตกฉาน และบันทึกไว้เป็นคัมภีร์ในการทำธุรกิจอย่างพอดี นั่นก็คือโจทย์ของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข อันประกอบไปด้วย

ห่วงที่ 1: รู้จักตน – ประมาณตน  ข้อนี้หมายถึงการรับรู้และเข้าใจในจุดยืนของตนเอง เช่นรู้ว่าเรามีทรัพยากรอะไรในมือบ้าง อะไรที่เราดี อะไรที่เราขาด รวมถึงไม่คิดลงทุนเกินกำลังหรือเกินทุนทรัพย์ที่ตนเองมี ไม่ว่าจะเป็นทุนทางกายภาพ ทุนทางมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทางธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งการรู้เท่าทันตนเองในห่วงแรกนี้จะนำธุรกิจของเราไปสู่การเลือกใช้และบริหารทรัพยากรที่เรามีอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเรา  (SWOT Analysis) ภายใต้บริบทการแข่งขันและตลาดที่เป็นจริงอย่างเหมาะสม

ห่วงที่ 2: มีเหตุ – มีผล  หมายถึงการรู้จักวางแผนธุรกิจอย่างรอบคอบ ทำความเข้าใจตลาด เข้าใจคู่แข่ง เพื่อวางเป้าหมายและแนวการดำเนินงานอย่างมีเหตุผล (Strategic Management) สามารถคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากธุรกิจได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่นว่าธุรกิจของเราจะมีผลกระทบต่อใคร ต่ออะไร ในมิติไหน และอย่างไรบ้าง เป็นต้น

ห่วงที่ 3: สร้างภูมิคุ้มกัน  ข้อนี้หมายถึงการเตรียมพร้อมต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานที่ไม่บรรลุผล เช่น ในกรณีที่ธุรกิจต้องเผชิญกับอุปสรรคหรือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด (Risk Management) การสร้างภูมิคุ้มกันไว้ล่วงหน้านี้จึงเปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนที่จะพยุงธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้

เงื่อนไขที่ 1: มีความรู้  เงื่อนไขข้อแรกในการทำธุรกิจให้สำเร็จอย่างพอดีคือการที่เรามีความรอบรู้ต่อสถานการณ์ต่างๆ เช่นรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาด เข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง รวมถึงรู้ว่าตนยังขาดความรู้ความชำนาญในด้านใด (เพื่อที่จะได้หาทางเติมเต็มในส่วนนั้น) ทั้งนี้เพราะความเท่าทันในธุรกิจทุกด้านย่อมทำให้เราตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูงสุด

เงื่อนไขที่ 2: มีคุณธรรม  เงื่อนไขข้อนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือเราต้องมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณ และมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ หมายถึงการที่เราไม่คิดเอาแต่ได้หรือคิดหาประโยชน์ให้พวกพ้องเพียงกลุ่มเดียว ในทางตรงกันข้าม เราต้องคิดถึงผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่ธุรกิจของเราอาจมีต่อผู้อื่น ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ในยุคที่ 3Ps คือหัวใจของธุรกิจที่สมดุลและยั่งยืน

ในอดีตนั้นเราล้วนเคยร่ำเรียนกันมาว่า 4Ps คือหลักการตลาดที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ แต่ในโลกทุกวันนี้การที่ธุรกิจหนึ่งๆ จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น การบริหาร 4Ps ได้อย่างชาญฉลาดอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคสมัยใหม่ได้หันมาให้ความสำคัญกับอีก 3Ps ที่เขามองว่าเป็นพื้นฐานการทำธุรกิจที่น่าสนับสนุน นั่นก็คือ

1) PROFIT สร้างกำไรให้พอดี  แน่นอนว่าการทำธุรกิจนั้นย่อมต้องมุ่งหวังผลกำไรเป็นเป้าหมาย ซึ่งกำไรดังกล่าวอาจได้มาจากการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดี มีความแตกต่างที่ตรงใจผู้บริโภค หรือมีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และการขายที่แข็งแรงเหนือชั้น ฯลฯ ในบริบทของการทำธุรกิจแบบพอแล้วดีก็เช่นกัน เราต้องระลึกไว้เสมอว่าการหากำไรอย่างพอดีคืออะไร ไม่ใช่ทำธุรกิจที่ดีต่อสังคม ดีต่อชุมชน ดีต่อใจ แต่ไม่มีกำไรทางเศรษฐกิจเลย

2) PEOPLE ใส่ใจผู้คนที่เกี่ยวข้อง  นอกจากกำไรที่เป็นมูลค่าทางธุรกิจแล้ว กำไรที่เป็นคุณค่าต่อผู้คนและสังคมคืออีกสิ่งที่ธุรกิจในปัจจุบันต้องคำนึงถึง การที่แบรนด์ใดจะก้าวขึ้นมาเป็นที่หนึ่งในใจของผู้คนได้ แบรนด์นั้นจะต้องมีความรับผิดชอบต่อทั้งลูกค้า คู่ค้า ลูกจ้าง รวมไปถึงคนทุกคนที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียจากการทำธุรกิจของแบรนด์ดังกล่าว เพราะท้ายที่สุดแล้ว ‘การชนะใจคน’ ไม่เพียงแต่จะสร้างการเติบโตให้ธุรกิจของคุณเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจ บนพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือข่าย พันธมิตร พนักงาน ผู้คนในชุมชน รวมไปถึงผู้ใช้สินค้าและบริการด้วย

3) PLANET ดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันทางเลือกการใช้ทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นหัวใจที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญและวางแผนล่วงหน้าอย่างครบวงจร นับตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การขนส่ง การทำการตลาด การตกแต่งร้าน การทำแพคเกจจิ้ง เพราะผู้บริโภคสมัยนี้เขาสนใจว่าในการดำเนินธุรกิจของแบรนด์ๆ หนึ่งมันสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างไรบ้าง เช่น การผลิตและขนส่งก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์อย่างไร เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เสร็จแล้วเขาจะสร้างขยะให้โลกแค่ไหน ฯลฯ

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการสร้างแบรนด์ยุคใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน คุณจำเป็นต้องบริหารทั้ง 4Ps และ 3Ps ให้ได้อย่างมีเอกภาพ โดยต้องระลึกไว้ด้วยว่า “พอ” ไม่ได้แปลว่า “หยุด” แต่หมายถึงการ “คิด” และ “ทำ” อย่างพอดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำร้ายสังคม และช่วยดูแลโลกใบเดียวที่เรามีอยู่นี้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้

“ถ้าคุณทำธุรกิจที่ดีแต่กับผู้อื่น แต่คุณเองขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดคุณจะกลายเป็นภาระสังคม ฉะนั้นจำไว้ว่าการทำธุรกิจต้องมีกำไร แต่กำไรอย่างพอประมาณ”
– ดร. ศิริกุล เลากัยกุล

 

Tags:

ผู้เขียน
ณัฏฐิมา วิชยภิญโญ

Subscribe now

© 2019 Marketing Association of Thailand
logo