Interview

สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ Game Changer แห่ง พฤกษา โฮลดิ้ง แชร์กลยุทธ์ทำงานอย่างไรให้ชีวิตมีสุข

2.5k
SHARE

KEY FOCUS

  • การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรต้องใช้เวลา และผู้บริหารต้องพูดจริงทำจริง ถึงจะสร้างการยอมรับสนับสนุนได้
  • แรงงานคนจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้มี ‘ความสร้างสรรค์’ และ ‘ทักษะ’ ที่หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้
  • ผู้นำยุคใหม่ต้องเข้าใจและสื่อสารกับคนได้ทั้ง 4 รุ่น คือ Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z
  • 6 เทรนด์มาแรงในธุรกิจอสังหาฯ ได้แก่ Smart Living, Green Living, Sharing Economy, Ageing Society, Rent and Second-handed Home และ Infrastructure
  • 3 Ps แห่งความสำเร็จของผู้นำคือ 1) Purpose 2) Passion และ 3) Persistence

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงไทยคนหนึ่งจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในบริษัท FMCG ระดับโลกอย่างยูนิลีเวอร์ได้ แต่คุณจุ๋ม – สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ที่เรานั่งคุยด้วยวันนี้เธอก็ทำสำเร็จมาแล้ว  ในวัยห้าสิบกว่าเรากล้าบอกเลยว่าผู้หญิงเก่งคนนี้ยังไม่หมดไฟ เธอเลือกที่จะพาประสบการณ์ร่วมสามทศวรรษ ‘ข้ามสายธุรกิจ’ มารีแบรนด์และสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับกลุ่มบริษัทพฤกษา โฮลดิ้ง (Pruksa Holding) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่คนไทยรู้จักกันดีมากว่า 25  ปี

เล่าถึงนิยามของ Game Changer ที่คุณบอกว่า ‘เป็นมาตลอดชีวิตการทำงาน’

อันดับแรก คือ เรากล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเสมอค่ะ ไม่ชอบทำอะไรตามคนอื่น ชอบเรื่องท้าทาย
สอง คือ เป็นคนชอบแก้ปัญหา โจทย์เลขยากๆ นี่จะชอบทำ ยิ่งทำได้ก็ยิ่งอยากทำโจทย์ที่ยากขึ้นอีก (หัวเราะ)
สุดท้าย คือ เป็นคนชอบลงมือทำ เราจะภูมิใจก็ต่อเมื่อเห็นผลงานสำเร็จ เป็นคนประเภท action oriented และ achievement driven ซึ่งเวลาเราเจอโจทย์ใหม่ๆ ข้อดีคือมันทำให้เราเป็นคนอ่อนน้อม อีโก้ลดลง ที่สำคัญคือไม่ลืมตัว เปิดใจรับฟัง ได้เรียนรู้ ได้คิด และพัฒนาตัวเอง

ถ้าเรากำลังทำอะไรที่ซ้ำกับเครื่องจักร หรือทำในสิ่งที่หุ่นยนต์ทำแทนได้ อันนั้นเราแย่เลย วันนี้โชคดีที่เรายังมีคุณสมบัติบางอย่างในตัวที่หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้

มองย้อนไปชีวิตเรามีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า big game changing ในหลายมุมเหมือนกันนะ ในเรื่องงานเราเริ่มต้นจาก support function แล้วก็มาทำ market research แล้วก็โดดมา media ต่อมาย้ายอีกมาเป็นนักกลยุทธ์ จากนั้นค่อยย้ายมาเป็นทัพหน้าทำมาร์เก็ตติ้ง เป็น GM ดูฝ่ายขาย จนสุดท้ายถึงขึ้นมาเป็น CEO  แต่ถ้ามองในมุมของ industry เราเริ่มจากธุรกิจ laundry ก่อน แล้วข้ามมาดูอาหาร มาดู personal care ดู beverage ดูไอศครีม จนล่าสุดย้ายมาดูอสังหาฯ หรือถ้ามองในมุมของ geography เราก็โยกย้ายมาเยอะ จากประเทศไทยข้ามไปดูที่มาเลเซีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9 ประเทศ อะไรแบบนี้

ความภูมิใจสูงสุดตั้งแต่รับหน้าที่แม่ทัพใหญ่ของพฤกษา

ตอนเป็น CEO ของยูนิลีเวอร์ก็ภูมิใจมากแล้ว เพราะบริษัทต่างชาตินี้อยู่ในเมืองไทยมา 80 กว่าปีมี CEO ไทยแค่ 2 คน เราเป็นคนที่ 2 และเป็นคนแรกเลยที่เป็นผู้หญิง แต่ที่ภูมิใจที่สุด ณ วันนี้คือการที่เราได้นำเอาประสบการณ์ที่สั่งสมมา 26 ปี มาช่วยรีแบรนด์และกำหนดวิถีการตลาดใหม่ให้กับธุรกิจของคนไทย เรากำหนดเป้าหมายให้กับแบรนด์ที่ไม่ได้พูดเฉพาะกับคนอื่น แต่เราพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรจากข้างในเพื่อให้มันสร้างอิมแพ็คไปสู่ภายนอกได้เอง

ในบางธุรกิเป้าหมายและ คุณค่าของแบรนด์กับขององค์กรเป็นคนละเรื่องกันเลยคือพูดกับคนข้างนอกอย่างหนึ่ง พูดกับพนักงานอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเรามองว่านั่นไม่ถูกต้อง

การที่เรามารีแบรนด์พฤกษาในวัยเบญจเพสนี้เปรียบได้การสร้างจุดเริ่มต้นใหม่ให้กับธุรกิจในยุคดิจิทัล พฤกษาจะเป็นทั้ง purposeful company และ purposeful branding นี่คือที่มาของคำว่า ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต ที่เราพยายามสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่าหน้าที่ของเราไม่ใช่แค่ซื้อที่ สร้างบ้าน และขายบ้านเท่านั้นนะ แต่เป็นการส่งมอบบริการและคุณภาพสินค้าให้กับลูกค้าด้วยความสุขในใจของเรา

ขั้นแรกคือเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก House มาสู่ Home ก่อน และปีนี้จะยกระดับเป็น Living Solutions เราต้องการทำมาร์เก็ตติ้งที่มีจิตวิญญาณ เกิดจากความจริงใจ จากปณิธานความมุ่งมั่น ตอนนั้นเราเลือกใช้คุณตูน บอดี้สแลม มาเป็น brand endorser ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาก แบรนด์พฤกษากระโดดมาเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในโซเชียลมีเดียติดต่อกันหลายเดือน ส่วน negative impact ที่เมื่อก่อนเราอยู่อันดับต้นๆ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่แล้ว ระดับความพึงพอใจของลูกค้าสูงกว่า 90% ต้องขอขอบคุณสมาคมการตลาดฯ ด้วยที่ให้รางวัลเราในปีที่แล้ว

แนวคิดในการเปลี่ยนแปลง คนและ ัฒนธรรม

การเปลี่ยนแปลงสองเรื่องนี้ต้องใช้เวลาค่ะ แต่ที่สำคัญคือต้องมีความจริงใจ ผู้นำต้อง walk the talk คือพูดแล้วต้องทำจริง คนต้องสัมผัสได้ด้วยใจ เขาต้องเชื่อเราก่อนว่าเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองนะ เราทำเพื่อองค์กร เพื่อพวกเขาทุกคน ซึ่งตรงนี้เราจะไปเร่งความคิดคนไม่ได้ แต่เราเร่งที่ตัวเราเองได้ ต้องแสดงผลงานแบบ quick win ถ้าลูกน้องเห็นความทุ่มเทที่มาคู่กับความสำเร็จเมื่อไหร่ การเปลี่ยนแปลงก็จะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

Leadership สไตล์ไหนที่คุณมองว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกปัจจุบัน

ตอนนี้ตลาดแรงงานประกอบไปด้วยคน 4 รุ่น คือ Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z เรียกว่าเป็นยุคไฮบริด ผู้นำจากยุค Baby Boomer หรือ Gen X อาจจะตามเทคโนโลยีทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่จะขยัน อดทน ทุ่มเท ในขณะที่ลูกน้อง Gen Y และ Gen Z ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีเขาก็จะมีแนวคิดและสไตล์การทำงานไม่เหมือนคนรุ่นก่อน ดังนั้นผู้นำที่ดีจะต้องเข้าใจและเข้าถึงคนทั้ง 4 กลุ่มนี้ ต้องเชื่อมโยงความต่างของพวกเขาให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องยากนะ คนรุ่นห้าสิบอย่างเราต้องคบเด็กไว้จะได้ไม่ตกยุค (หัวเราะ) แล้วเด็กรุ่นนี้จริงๆ ก็คือลูกค้าของเราในอนาคต ถ้าเราเข้าใจ insight ของเขาได้ถ่องแท้ เราก็นำมาใช้ในการกำหนดวิถีการทำธุรกิจได้

ความท้าทายในโลกยุค 4.0 องค์กรรุ่นเดอะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ต้องปรับเยอะค่ะ เทคโนโลยีเป็นเรื่องจำเป็น เพราะต่อไปธุรกิจทุกแขนงจะใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่มนุษย์ ยิ่งเทคโนโลยี 5G มาเมื่อไหร่ ความเร็วในชีวิตคนก็จะเปลี่ยน ซึ่งถ้าเราไม่ปรับเราก็ไม่รอด องค์กรใหญ่ๆ อย่างพฤกษาเองก็ต้องกลับมาดูโครงสร้างพื้นฐานว่าเรามีความพร้อมแค่ไหนแล้วที่จะรองรับการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่  เรามีระบบ Cloud, Internet of Things, Big Data พวกนี้พร้อมแล้วหรือยัง เพราะต่อไปสิ่งที่พูดมานี้จะกลายเป็นกระดูกสันหลังของงานโอเปอเรชั่นและงานมาร์เก็ตติ้งทุกอย่าง แต่สำหรับพฤกษาเราไม่ตกขบวนแน่นอนค่ะ เป้าหมายของเราคืออย่างน้อยเราต้องก้าวให้ไกลกว่าคนอื่นหนึ่งก้าวเสมอ

แทกไลน์ใหม่ของแบรนด์ที่ว่าพฤกษาใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต”’มีที่มาที่ไปอย่างไร

มันเริ่มจากพันธกิจของคุณทองมาที่อยากสร้างบ้านคุณภาพดีแต่ราคาไม่แพงมากให้คนไทยได้อยู่อาศัย ซึ่งเราก็มาขยายความต่อว่าสำหรับบางคน บ้านคือการลงทุน ‘ทั้งชีวิต’ นะ เราถึงต้องมุ่งมั่นที่จะส่งมอบบ้านที่อยู่แล้วมีความสุขให้กับเขา ส่วนคำว่า ‘ใส่ใจ’ มีนัยยะถึงพนักงานของพฤกษาทุกคน ที่สามารถจะทำให้ good กลายเป็น great ได้ หากเราทุกคนใส่ใจเพิ่มขึ้นทั้งเรื่องการก่อสร้าง การขาย การบริการ การบริหารงานบุคคล ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรของเราส่งมอบสินค้าและบริการที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ให้กับสังคมไทย

เทรนด์ไหนบ้างที่จะมีบทบาทต่อธุรกิจอสังหาฯ ในอนาคต

เรามองว่ามี 6 เทรนด์ที่มาแน่ๆ คือ 1) Smart Living เช่นเรื่อง Home Automation ที่ทุกอย่างสั่งการได้จากมือถือ จะเปิดปิดแอร์ เปิดปิดไฟ ตั้งระบบความปลอดภัย แจ้งซ่อม จองคลับเฮ้าส์ ฯลฯ ทุกอย่างจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยหมด 2) Green Living เช่นจะออกแบบบ้านอย่างไรให้ประหยัดพลังงาน หรือจะนำเทคโนโลยี O2 System มาช่วยลดความเครียดได้ไหม 3) Sharing economy ข้อนี้จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถซื้อทุกอย่างเป็นของตัวเองได้ เช่นถ้าบ้านทั้งหลังแพงไป คนยุคใหม่อาจจะซื้อแค่ห้องนอนแล้วแชร์ฟังก์ชั่นอื่นๆ กับเพื่อนบ้าน  4) Ageing Society ชัดเจนว่าการออกแบบบ้านสมัยใหม่ต้องตอบรับกับชีวิตของคนวัยเกษียณ 5) Rent and Second-handed Home เป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่มีที่ดินจำกัด ถ้าราคาบ้านใหม่แพงมาก ผู้คนจะหันไปดูบ้านมือสองหรือบ้านเช่าแทน  6) Infrastructure เรื่องนี้กรุงเทพฯ เราเห็นชัดเจนที่สุด ระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อกันจะส่งผลให้ไลฟ์สไตล์ ‘คนเมือง’ เปลี่ยนไปมหาศาล

คุณมีความเห็นอย่างไรที่นักการตลาดสมัยใหม่บอกว่า ‘Every product is turning into some kind of service’

เป็นเรื่องจริงนะ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครซื้อบ้านที่อิฐ หิน ปูน แล้ว เขาซื้อเพราะมันมีคุณค่าอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น หลักๆ คือมีบริการเพื่อไลฟ์สไตล์ที่มีคุณภาพ เช่นเรื่อง Internet of Things, Home Automation ฯลฯ  แบรนด์ดิ้งก็ต้องผูกโยงกับค่านิยม ไลฟ์สไตล์ และภาพลักษณ์ที่เฉพาะเจาะจง แนวโน้มนี้แหละคือสิ่งที่บ่งบอกว่าโปรดักท์ในวันนี้มันคือทั้งเซอร์วิสและอิมเมจ มันเป็น added valued ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนต่อแบรนด์ในระยะยาว

สุดท้ายต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของมาร์เก็ตติ้งคือการสร้างเอกลักษณ์บางอย่างที่ผู้บริโภคชื่นชม แม้เราจะมีเซอร์วิสหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอย่างไร แบรนด์อิมเมจที่ดีคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเติบโต

พูดถึง โรงพยาบาลวิมุตที่เป็นธุรกิจกลุ่มใหม่ของพฤกษา

เรื่องนี้เป็นความฝันของคุณทองมา – ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัทเลยค่ะ ท่านมองว่าที่อยู่อาศัยคือหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งการรักษาพยาบาลเองก็เช่นกัน โรคภัยไข้เจ็บเป็นอะไรที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณทองมาเห็นว่าโรงพยาบาลรัฐมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็ราคาสูงเหลือเกิน  Pain point นี้คือที่มาของโรงพยาบาลวิมุตที่จะเป็นทางสายกลางให้กับการรักษาพยาบาลที่ดี คนชั้นกลางจะเข้าถึงได้ นี่คือส่วนหนึ่งที่เราตัดสินใจเลือกทำงานกับพฤกษา เพราะเรารู้สึกศรัทธาในปณิธานและความตั้งใจของคุณทองมา จำได้ว่าตอนคุยกันเรื่องนี้เราบอกคุณทองมาว่าเราทำโรงพยาบาลเองคนเดียวไม่ไหวหรอก แต่คุณทองมาบอกว่าถ้าเราไปจับมือกับหุ้นส่วนแล้วเกิดมีความคิดไม่ตรงกัน เช่นถ้าเขาจะเอาแต่เงิน สุดท้ายปณิธานของเราก็จะบิดเบี้ยว เลยตัดสินใจว่ายังไงก็ต้องทำกันเองและหาคนที่มี value ตรงกันมาช่วย

การสร้างสรรค์พลังบวกสำคัญอย่างไร ทำไม ความสุขของทุกคน’ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการบริหาร

ง่ายๆ เลยคือดูจากตัวเองค่ะ เวลาเรามีความสุข งานก็จะออกมาดี ความสุขในการทำงานเกิดจากการที่เรามีจุดมุ่งหมาย เรารู้ว่าเรากำลังทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ไม่ใช่ทำไปเพื่อรอรับเงินเดือนอย่างเดียว เป้าหมายนี้มีประโยชน์มากนะคะ บางทีแม้ยังเดินไปไม่ถึง แต่เราก็ได้เรียนรู้ ได้พัฒนา และได้เติมเต็มคุณค่าบางอย่างในใจเราเสมอ คนที่จะมีความสุขในการทำงานคือคนที่รู้ว่าตัวเองมีความสำคัญต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง นั่นคือได้ทำในสิ่งที่ส่งผลต่อคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

บุคลิกของผู้นำรุ่นใหม่ที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ต้องมี 3Ps ค่ะ คือ 1) Purpose รู้ว่าจุดมุ่งหมายของเราคืออะไรในชีวิตในการทำงาน ถ้าจุดมุ่งหมายชัดเจน แม้เจออุปสรรคเราก็จะไม่อ่อนไหวท้อถอยง่าย  2) Passion คือมีความรักและภูมิใจในสิ่งที่ทำ หรือที่เรียกกันว่าทำงานด้วยใจ ข้อนี้ทุกคนต้องหาให้เจอ ต้องหัดมองว่างานส่วนไหนที่เรารักแล้วเอาใจไปโฟกัสตรงนั้น
3) Persistence คือมีความวิริยะอุตสาหะ ผู้นำต้องอดทนมากๆ เพราะความสำเร็จมันเกิดจากความทุ่มเทระยะยาว เหมือนนักวิ่งที่อยากได้เหรียญทองโอลิมปิกก็ต้องฝึกๆๆๆ เพื่อที่จะไปแข่งวิ่งเพียงไม่กี่นาทีในงานที่ 4 ปีมีครั้ง

 

ภาพ: พฤกษา โฮลดิ้ง


ผู้เขียน
ชัชรพล เพ็ญโฉม

ชอบคิด ชอบเขียน ชอบเดินทาง ชอบชิม ชอบดู ชอบฟัง ชอบสิ่งเร้าจิตทั้งปวง

สมัครรับข่าวสาร

logo