Interview

รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของพ็อดคาสท์ Mission to the Moon กับภารกิจการส่งต่อแรงบันดาลใจที่เขาว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของมนุษย์

111
SHARE

KEY FOCUS

  • หน้าที่สำคัญของมนุษย์คือการส่งต่อแรงบันดาลใจระหว่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Mission to the Moon พยายามทำอยู่
  • สิ่งที่ดีของหนังสือ How to คือมันช่วยให้เราอยากทำอะไรสักอย่างหลังอ่านจบ แต่ข้อเสียคือบางคนอ่านแล้วลอกแนวคิดมาทั้งดุ้นโดยไม่คำนึงถึงบริบทในชีวิตตนเอง
  • 3 ปัจจัยในธุรกิจที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผชิญปัญหาคือ “คน” “ระบบ” และ “เงิน”
  • ในอนาคตวิชาจิตวิทยาจะเป็นอีกศาสตร์การเรียนรู้ที่สำคัญไม่แพ้ศาสตร์ด้าน AI
  • การลงพื้นที่สังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคและการวิเคราะห์ data science บนโลกออนไลน์คือหัวใจสำคัญของธุรกิจ
  • ความสำเร็จเพียงหนึ่งครั้ง…ไม่ได้พิสูจน์ว่าคุณจะทำอะไรก็ได้ในชีวิต

หลายคนอาจรู้จัก แท็บ รวิศ หาญอุตสาหะ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทศรีจันทร์สหโอสถ ผู้พลิกชีวิตแบรนด์ SRICHAND เครื่องสำอางเพื่อผิวคนไทยให้กลับมาครองใจสาวๆ เอเชียได้อีกครั้ง แต่วันนี้สมาคมการตลาดขอคุยกับรวิศในอีกบทบาทหนึ่ง นั่นคือการเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ของเขา ที่สามารถย่อยเรื่องราวสารพัดให้ฟังเข้าใจง่ายและสนุกไปเสียหมด

แท็บ – รวิศ ในวันนี้เป็นเจ้าของ podcast และ facebook page ในชื่อเดียวกันคือ Mission to the Moon ซึ่งเรามองว่าเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ช่วยเติมความรู้ด้านการทำธุรกิจ การตลาด และข้อคิดหลากหลายในการใช้ชีวิต ที่ส่งผ่านแรงบันดาลใจให้คนไทยก้าวเดินตามความฝันของตัวเอง

จุดเริ่มต้นในการทำพ็อดคาสท์ Mission to the Moon

“ผมทำ podcast นี้มาได้เกินขวบปีแล้วครับ ก็มีหัวข้อพูดคุยกับผู้ฟังทุกวัน (รวม 448 ตอน ณ เดือนมิถุนายน 2562) จุดเริ่มต้นเกิดจากที่ผมพยายามหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อรองรับโลกธุรกิจที่กำลัง disrupt อย่างรวดเร็ว ช่วงแรกผมคิดว่าจะนำองค์ความรู้พวกนั้นมาเขียนเป็นบทความ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะสิ่งที่อยากเขียนมีเยอะมาก และมันต้องใช้แรงขับเคลื่อนมากกว่าการพูด สุดท้ายผมจึงเลือกช่องทางการถ่ายทอดผ่าน podcast แทน ซึ่งเมื่อการแชร์ความรู้นี้มาอยู่ในฟอร์แมทของการพูด หัวข้อในแต่ละตอนจึงต้องไม่ซับซ้อน เพื่อให้ผู้ฟังสามารถติดตามได้ง่าย สอดคล้องกับบริบทของการฟัง podcast ที่คนส่วนใหญ่จะฟังในขณะขับรถ หรือขณะนั่งทำงาน มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเปิดแบบตั้งใจมากๆ เช่นถ้าเป็นข้อมูลเรื่องตัวเลข ผมก็จะนำเสนอในเชิงเปรียบเทียบว่าตัวนี้น้อยกว่าหรือมากกว่าแค่นั้น เพื่อให้ผู้ฟังติดตามได้ง่ายที่สุด”

ทิศทางการนำเสนอคอนเทนท์ของ Mission to the Moon เป็นยังไง

“Mission to the Moon ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์ระหว่างผู้อ่านและผู้ฟัง podcast ครับ คือผมรู้สึกว่าชีวิตการทำงานของเราทุกคนล้วนต้องเจอทั้งอุปสรรคและความสำเร็จ ผ่านทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ซึ่งตัวผมเองที่ผ่านมาก็ได้รับแรงบันดาลใจและได้บทเรียนจากหลายๆ สิ่ง ไม่ว่าจะในเรื่องงานหรือเรื่องชีวิต

ผมเชื่อว่ามนุษย์เราส่งต่อแรงบันดาลใจกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือบางทีก็ส่งต่อในรุ่นเดียวกันนี่แหละ สำหรับผมแล้วมันเป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของมนุษย์เลยนะ

คุณเคยสังเกตไหมครับว่าในบางวันที่เราเศร้ามากๆ พอได้อ่านข้อความหนึ่งจากหนังสือ หรือจากเฟสบุ๊ค แล้วคุณกลับรู้สึกดีขึ้นมาได้  ไอ้ ‘ข้อความ’ นั่นแหละคือสิ่งที่ส่งต่อแรงบันดาลใจจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งแล้ว หรือในบางครั้งเราก็สามารถใช้ประสบการณ์ของเราให้คำแนะนำกับผู้ฟังที่ส่งคำถามมา ซึ่งหัวใจของ Mission to the Moon ก็คือตรงนี้ เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยากเล่าเรื่อง และหวังว่าสิ่งที่เราเล่าจะส่งแรงบันดาลใจไปถึงใครสักคนที่ฟังอยู่

ทำไมคุณถึงชอบเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้คนฟัง

“จริงๆ ผมเป็นคนพูดเยอะมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ (หัวเราะร่วน) จะว่าไปจุดเริ่มต้นมันเกิดจากการที่ผมเริ่มเขียนหนังสือก่อน ซึ่งมันก็ต้องใช้กระบวนการคิดเพื่อหาวิธีถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวเราให้คนอื่นเข้าใจ การเล่าเรื่องสำหรับผมไม่ง่ายเลยนะ ต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนพอสมควร ก่อนที่เราจะเขียนให้คนอ่านหรือจะพูดให้คนฟังได้ดี”

โครงสร้างในพ็อดคาสท์แต่ละตอนเกิดขึ้นได้อย่างไร

“อืมม…ผมเป็นคนที่สมัครรับข่าวสารจากหลายๆ แห่งครับ เรียกได้ว่าแทบทุกสำนักข่าว ทุกแหล่งข้อมูลธุรกิจ ฯลฯ คือผมมีข้อมูลในหัวเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้นำเรื่องสดใหม่ ณ วันนั้นมาเล่าหรอก เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของสำนักข่าวเขาอยู่แล้ว แต่ผมจะเอาเรื่องที่ยังไม่เก่าและน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ฟังมานำเสนอ เช่น ทำไมเครื่องบิน Boeing 737 Max รุ่นใหม่ล่าสุดถึงโดนระงับการใช้งาน หรือทำไม Jay-Z ถึงเป็นนักร้องคนแรกที่ทำเงินเกินพันล้านเหรียญได้ ฯลฯ นอกจากนี้ผมก็มีหัวข้อที่หนักๆ ในเชิงธุรกิจบ้าง รวมถึงการรีวิวหนังสือที่ผมอ่าน ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม ที่ผ่านมาพ็อดคาสท์ที่ยาวที่สุดของผมจะเป็นการตอบคำถาม ซึ่งมักจะทำในวันอาทิตย์ ผมตั้งใจให้เวลาตรงนี้มากหน่อย เพราะบางคำถามมันเป็นประโยชน์กับคนฟังได้อีกหลายคนเลย”

คุณคิดเห็นอย่างไรกับหนังสือ How to ที่มักจะเป็น Best Seller ตามร้านหนังสือ

“ผมคิดว่าเหตุผลแรกคือเพราะมันย่อยง่าย สองคือพอเราอ่านหนังสือ How to จบเรามักจะอยากเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง มันแตกต่างจากหนังสือกลุ่มที่อ่านแล้วได้ความรู้ แต่คุณจะลุกขึ้นมาทำอะไรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง แต่หนังสือ How to ก็มีข้อเสียเหมือนกันนะ เพราะบริบทของเนื้อหาจากแต่ละวัฒนธรรม เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่ง ไทย มันไม่ได้เหมือนกัน บางทีการนำ How to ของวัฒนธรรมอื่นมาใช้ทั้งหมดก็อาจทำให้เละได้ หลักสำคัญคือเราต้องทำความเข้าใจวิธีคิดของผู้เขียน แล้วค่อยนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องตามบริบทชีวิตหรือธุรกิจของเรา ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าหนังสือประเภท How to นี้จะคุณจะเจอคำว่า “รวย” กับ “ผอม” เยอะมาก  มันแสดงให้เห็นว่านี่คือค่านิยมที่คนทั่วไปอยากรวยกับอยากผอมหุ่นดี (หัวเราะ)

อย่าลืมนะครับว่าผู้เขียนเขาแค่ทำหน้าที่แบ่งปันสิ่งที่เขาได้สัมผัส ฉะนั้นเวลาเราอ่านก็อย่าเคลิ้มตามหมด ให้รู้จักถกเถียงกับหนังสือด้วย เพื่อค้นหาเหตุและผล รวมไปถึงหลักคิดในบริบทที่แตกต่างกัน ก่อนนำมาปรับใช้กับชีวิตเรา

คุณคิดว่า SMEs ไทยติดบ่วงในเรื่องไหนบ้าง

“เรื่องคน เรื่องระบบ และเรื่องเงิน คือสามสิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เจอปัญหาครับ โดยเฉพาะคนกับระบบนี่เรื่องใหญ่ เพราะเงินสมัยนี้ยังพอหาทางเข้าถึงได้ ส่วนตัวผมมองว่า ‘คน’ เป็นปัญหาที่ยากที่สุด และความยากของคนไม่ใช่ใครอื่นนะ คือตัวเราเองนี่แหละ เพราะเรามักมีความเชื่อบางอย่างที่ผิดๆ แต่เราคิดว่าถูก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีอาชีพ ‘โค้ช’ เกิดขึ้นมาเพื่อให้คำแนะนำ

ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าเรื่องคนจะเป็นเรื่องที่เราได้ใช้เวลากับมันมากขึ้นในอนาคต เพราะงานอื่นๆ สามารถถูกแทนที่ด้วย AI หมด

ดังนั้นนอกเหนือจากศาสตร์เรื่อง AI ผมคิดว่าศาสตร์ที่จะมีความสำคัญอย่างมากในวันหน้าคือเรื่องจิตวิทยา และมนุษยวิทยา เพราะถ้าเราเข้าใจโครงสร้างความคิดของคนนะ เราจะรู้หมดเลยว่าตอนนี้เขาคิดอะไรอยู่ เรื่องนี้ไม่ง่ายครับ เพราะขนาดแฟนที่อยู่กันมาสิบกว่าปีเรายังไม่รู้ความคิดเขาทั้งหมดเลย นับประสาอะไรกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าที่เรารู้จักเพียงแค่ผิวเผิน”

คุณมองเรื่อง Customer Journey ของลูกค้ากับธุรกิจทุกวันนี้อย่างไร

“ประการแรกคือเราไม่สามารถสรุปแนวคิดการทำงานใดๆ จากแค่ในห้องประชุมครับ ห้ามเด็ดขาด เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารนี่แหละที่ควรจะลงพื้นที่ไปสัมผัสกับชีวิตของผู้คนจริงๆ เราต้องไปคุย ไปสัมภาษณ์ ไปสังเกตพฤติกรรมของเขาให้มากที่สุด อย่าลืมนะครับว่าสิ่งที่เราตั้งสมมติฐานไว้ในห้องประชุมนั้นอาจจะผิดหมดเลยก็ได้ หรือคำตอบที่ผู้บริโภคตอบมาในแบบสอบถามก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ แต่ถ้าเราออกไปสังเกตพฤติกรรม การจับจ่าย การใช้ชีวิต ฯลฯ ของผู้บริโภคด้วยตาตัวเอง นั่นแหละเราถึงจะได้รับคำตอบที่น่าจะเป็นจริงที่สุด

และอีกวิธีหนึ่งคือการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ วิธีนี้ก็เป็นประโยชน์มากในการทำธุรกิจ เพราะเราจะเห็นพลวัตของข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งก็คือพลวัตของคนที่นั่งอยู่หลังจอคอมหรือจอมือถือนั่นแหละ การวิเคราะห์ big data บนโลกดิจิทัลจะทำให้เราเห็นเลยว่ามนุษย์สองคนที่อายุเท่ากัน ใช้ชีวิตคล้ายๆ กัน ก็ยังมี customer journey ที่แตกต่างกันได้แบบคนละเรื่อง”

ตั้งแต่กลับมาทำงานที่ศรีจันทร์ มีงานไหนที่คุณคิดว่าคุณก้าวพลาดบ้างมั้ย

“ปี 2015 การรีแบรนด์ดิ้งศรีจันทร์ของเราประสบความสำเร็จมาก เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และมีภาพลักษณ์ร่วมสมัยมากขึ้น สังเกตได้จากการที่ผู้บริโภคหรือคนทั่วไปกลับมาพูดถึงแบรนด์เราอย่างท่วมท้น ตอนนั้นผมมั่นใจในตัวเองมาก คิดว่าจากนี้เราคงจะทำอะไรก็ได้แล้ว เริ่มอยากแหวกแนวเพราะความเชื่อมั่นที่มากเกิน ซึ่งนั่นเป็นชุดความคิดที่ผิดมากครับ หลังจากนั้นแค่สองปี (ปี 2017) ผลิตภัณฑ์ที่เราออกใหม่ถ้าไม่เสมอตัวก็ขาดทุน ถือเป็นปีที่แย่มากๆ

ความผิดพลาดทั้งหมดเกิดจากอีโก้ของผมเอง มันทำให้ผมเรียนรู้ว่าความสำเร็จเพียงครั้งเดียวไม่ได้พิสูจน์ว่าเราจะทำอะไรก็ได้ในอนาคต

สรุปว่าการทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้งคือหนทางเดียวในการพัฒนาธุรกิจที่ถูกต้อง หาใช่การคิดเอาเองของผู้บริหารที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน เหมือนกับที่ บิล เกตส์ เคยพูดไว้ว่า ความสำเร็จเป็นครูที่แย่มาก อันนี้เป็นเรื่องจริงครับ ช่วงปี 2017 เป็นปีที่ผมและทีมงานได้รับบทเรียนจากข้อผิดพลาด ซึ่งก็ถือว่าเป็นประโยชน์มหาศาลในการก้าวเดินต่อไปของบริษัท ทำให้เราวางแผนการทำงานอย่างรอบครอบ จนในปี 2018 เราก็กลับมามียอดขายที่สูงขึ้น และในปีนี้ (2019) ก็เป็นปีที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเลยที่ขายต่ำกว่าเป้า ทั้งหมดเกิดจากการที่เราเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง”

ภูมิใจกับธุรกิจที่ทำในวันนี้แค่ไหน และมองอนาคตไว้อย่างไรบ้าง

“ก็ภูมิใจระดับหนึ่งครับ เดี๋ยวนี้คนรู้จักแบรนด์ศรีจันทร์มากขึ้นเยอะ นอกจากนี้เรายังมีแบรนด์คอสเมติกส์ชื่อ ‘ศศิ’ (SASI) และอีกแบรนด์หนึ่งที่กำลังพัฒนาอยู่ โดยจะใส่คำว่า Bangkok คู่ไปกับแบรนด์ด้วยเพื่อสร้างความภูมิใจในเมืองที่เราถือกำเนิด ส่วนในอนาคตผมก็หวังว่าในวันหนึ่งเราจะมีที่ยืนในตลาดระดับภูมิภาคและในระดับโลก นั่นคือความฝัน ถึงแม้วันนี้ประเทศเราจะมีเรื่องแปลกเกิดขึ้นมากมาย แต่ผมก็ยังรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทยและในเมืองกรุงเทพนะ ผมว่าเราเป็นเมืองที่เจ๋ง เลยอยากเล่าเรื่องราวของกรุงเทพผ่านผลิตภัณฑ์ที่เราพัฒนาด้วย

ติดตามพ็อดคาสท์ Mission to the Moon ได้ทาง soundcloud:missiontothemoon
อ่านเรื่องราวการส่งต่อแรงบันดาลใจเกี่ยวกับธุรกิจ เทคโนโลยี และข้อคิดในการใช้ชีวิตได้ที่ missiontothemoon.co และทางเฟสบุ๊ค facebook:marketingeverythingbook

ภาพประกอบ: Srichand

CREATIVE JUICE

ถ้าเปลี่ยนกรุงเทพได้ คุณอยากเปลี่ยนอะไร

อยากทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่มีความเท่าเทียมกันในการเดินทาง เพราะผมคิดว่ามันเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบริบทชีวิตหลายเรื่อง คนกรุงเทพใช้เวลาเดินทางแต่ละวันเยอะมาก และมีความทรมานด้วย มันส่งผลต่อปริมาณ ‘ความสุข’ ในชีวิต ทั้งในด้านการใช้เวลากับครอบครัว ความเครียดระหว่างวัน ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนในที่นี้ผมอยากเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือเลยครับ เช่นที่อัมสเตอร์ดัมเขาปิดเมืองเพื่อให้จักรยานเข้าอย่างเดียว มีคนเคยกล่าวว่าเมืองที่เจริญไม่ใช่เมืองที่มีรถยนต์แพงๆ แต่เป็นเมืองที่คนทุกฐานะใช้ระบบขนส่งมวลชนร่วมกันต่างหาก”

ถ้ามีโอกาสนั่งดื่มกับใครก็ได้ คุณอยากใช้เวลานั้นกับใคร

“มีสามคนครับ หนึ่งคือคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (นักเขียน) สองคือคุณอานันท์ ปันยารชุน (อดีตนายกรัฐมนตรี) และอีกคนที่ผมอยากดื่มด้วยแต่ท่านไม่อยู่แล้วคือ อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผมรู้สึกว่าคนเหล่านี้มีมุมมองต่อโลกแบบที่ลึกซึ้งแตกต่างจากผม รวิศจะเป็นคนเร็วๆ และฉาบฉวยหน่อย ดังนั้นถ้าเลือกได้จึงอยากนั่งดื่มและสนทนากับคนที่ลุ่มลึก มันเป็นเสน่ห์ที่ผมอยากสัมผัส”

สถานที่ท่องเที่ยวที่ให้แรงบันดาลใจกับคุณ

“ส่วนตัวผมไม่ได้เป็นคนที่เที่ยวเยอะ ถ้าไปทะเลก็จะไปนอนอ่านหนังสือเฉยๆ เวลาเดินทางก็ไม่เน้นกิจกรรม ชอบนั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำงานก็พอ (หัวเราะ) สถานที่พักผ่อนที่ผมจะเลือกต้องตอบโจทย์พฤติกรรมข้อนี้ มีมุมเงียบๆ ให้ผมได้อยู่นิ่งๆ ผมมองว่าความเงียบคือ Luxury อย่างหนึ่งนะครับ ในอนาคตเราอาจต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งความเงียบนี้ เป็นพื้นที่ที่เราได้ตกผลึก ได้ทบทวนตัวเอง อันนี้ผมไม่ได้หมายถึงความเงียบในเชิงปฏิบัติธรรมนะ แค่เป็นการอยู่กับตัวเองโดยไม่เล่นมือถือ ไม่ดูซีรีย์ ได้เลือกเสพในสิ่งที่มันไม่พุ่งใส่เรา แต่เป็นเราเองที่ค่อยๆ ละเลียดกับมัน เช่นการอ่านหนังสือเป็นต้น”

ไอดอลของคุณ

“พี่ต่อ – ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับหนังโฆษณา ครับ สำหรับผมพี่ต่อเป็นคนที่ถ่อมตัวมาก มองโลกในแง่ดีมาก ที่สำคัญคือมีความเพียรมากกว่ามนุษย์ทั่วไป สังเกตจากเวลาทำงานร่วมกัน พี่ต่อจะใส่ใจทุกรายละเอียดแม้เป็นจุดเล็กๆ การทำงานแบบนี้สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของมนุษย์และความเป็นมืออาชีพ ส่วนการมองโลกในแง่ดีที่ผมได้ยินมา คือช่วงที่เกิดไฟป่าที่เชียงใหม่ แล้วไฟกำลังลามถึงที่ที่พี่ต่อซื้อไว้ ซึ่งแทนที่พี่เขาจะหาวิธีป้องกันไฟ เขากลับเริ่มค้นหาข้อมูลว่า “ไฟป่ามีประโยชน์อย่างไร” มันเป็นคำถามที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงนะ ผมว่าอันนี้คือทัศนคติที่ดี เป็นการมองสถานการณ์หนึ่งๆ ในเชิงบวก พี่ต่อเป็นคนหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจผมมากๆ ในการดำเนินชีวิต”

 

More Image

ผู้เขียน
สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์

เป็นเหมือนร้านค้าสร้างสรรค์ที่ชวนให้ใครต่อใครมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตั้งแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปจนถึงดีไซน์ในอีกซีกโลก อีกมุมหนึ่งเขาคือคนล่องเรือ เดินเมืองเก่า ที่ไม่เคยหยุดเดินทางเพราะความหลงใหลวิถีชีวิตท้องถิ่น

สมัครรับข่าวสาร

logo