News

สรุปเนื้อหาในงาน
World Marketing Forum 3
“The New Marketingverse”
Meta – Mitri – Meetang

2.6k
SHARE

จบไปแล้ว กับงาน “World Marketing Forum ครั้งที่ 3” สุดยิ่งใหญ่ ที่สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (Marketing Association of Thailand) เป็นเจ้าภาพร่วมกับสหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย (Asia Marketing Federation) โดยในงานมีวิทยากรชั้นนำ 5 ทวีป ฉายภาพ “จักรวาลการตลาดยุคใหม่” ให้แก่ผู้ฟังซึ่งเป็นเจ้าของกิจการและนักการตลาดจาก 15 ประเทศทั่วโลก

เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ “โลกแห่งความเป็นจริง” ผสานกับ “เทคโนโลยีแห่งโลกดิจิทัล” ยกระดับประสบการณ์การตลาดไปอีกขั้น ทว่าต้องไม่ลืมเชื่อมหัวใจความเป็นมนุษย์ ด้วย “เมตา-ไมตรี –มีตังค์” มีความเข้าใจ เห็นใจ และมีไมตรีต่อกัน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่งานนี้ต้องการถ่ายทอดผ่านวิทยากรชั้นนำ 30 ท่าน ใน 20 เซสชั่น

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน เป็นวัน “World Marketing Forum 2023” ที่ผู้เข้าร่วมสัมนาได้พบกับบิดาแห่งการตลาด Philip Kotler พร้อมวิทยากรชั้นนำจาก 5 ทวีป ที่มาเปิดโลก Marketing 6.0 ให้เห็นภาพกว้าง เข้าใจเชิงลึก ทันทุกประเด็นการตลาดยุคใหม่ หลอมรวมเทคโนโลยีเข้ากับหัวใจของมนุษยชาติ เข้าใจ ก้าวนำ ข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงเติบโตและก้าวสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน

17 พฤศจิกายน 2566 – กรุงเทพฯ : ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ฉายภาพการตลาดแห่งอนาคตที่กำลังก้าวสู่ยุค 6.0 ว่า

เทคโนโลยี ยกระดับประสบการณ์ผู้บริโภคทุกมิติ

เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผสาน “โลกจริง” เข้ากับ “โลกเสมือน” สิ่งนี้เองจะทำให้เกิดการ “ปลดล็อก” อย่างก้าวกระโดด และสร้าง “ความเป็นไปได้” ทางการตลาด มากกว่าจินตนาการ โดยนักการตลาดจะเชื่อมผู้บริโภคได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทลายอุปสรรคทางกายภาพ ทางภูมิศาสตร์ ในการ “สร้างประสบการณ์” ให้กับผู้บริโภคในทุกมิติ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงเป็นทั้ง “ความท้าทาย” และ “โอกาสใหม่” ทางการตลาด

ขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยี มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ ความร่วมมือ มิตรภาพ จะเปิดประตูโลกธุรกิจสู่ความยั่งยืนเข้าบริบทความเป็นเอเชีย ผ่าน 3 คำ คือ Meta (เมตา) หมายถึง เทคโนโลยีที่สร้างโลกให้สมาร์ท ขณะที่ Mitri (ไมตรี) คือ มิตรภาพที่สะท้อนความเห็นอกเห็นใจ ร่วมมือเคารพกัน เปิดใจ ในการสร้างโลกที่สวยงาม เมื่อมี เมตา และไมตรี จะนำเราไปสู่ความมั่งคั่ง หรือ Meetang (มีตังค์)

“เทคโนโลยี เมื่อมาร่วมกับ ความเป็นมนุษย์ จะสามารถสร้างประโยชน์ทางการเงิน จากการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค นำไปสู่การสร้างอนาคตทางธุรกิจที่ยั่งยืน” ดร.บุรณิน กล่าว


การตลาด 6.0 : คุณค่าสำคัญกว่ามูลค่า

Hermawan Kartajaya ผู้ร่วมก่อตั้งของ World Marketing Forum (WMF) และประธานสหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย หรือ Asia Marketing Federation (AMF) นักการตลาดที่มีชื่อเสียงชาวอินโดนีเซียผู้นี้ กล่าวเปิดงานว่า มนุษย์และเทคโนโลยีมีความสำคัญ โดยมนุษย์ที่ใช้เทคโนโลยีได้ดีกว่าและเก่งกว่า ย่อมดีกว่ามนุษย์ที่ไม่รู้จักใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยีจะต้องใช้อย่าง “ระมัดระวัง” ต้อง “ควบคุม” เทคโนโลยีให้ได้

“เทคโนโลยีคือมูลค่า แต่มนุษย์จะสร้างคุณค่าให้กับมัน คุณค่าสำคัญกว่ามูลค่า ซึ่งเอเชียแข็งแกร่งในการมองเห็นสิ่งนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่เอเชียจะแสดงศักยภาพการตลาดให้โลกเห็น จากเดิมที่เรียนรู้การตลาดจากตะวันตก”

ดิจิทัล” ตัวช่วยนักการตลาด เจาะ Insight ลูกค้า

มร. ฟิลิป คอตเลอร์ (Philip Kotler) ปรมาจารย์ด้านการตลาดระดับโลก บิดาการตลาดสมัยใหม่ Live จากฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา บรรยายหัวข้อ A Lifetime of Marketing Wisdom Through the Winds of Change โดยเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการการตลาด และแนวทางการตลาดยุค 6.0 ว่า การที่อยู่ในแวดวงการตลาดมากว่า 60 ปี สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการตลาดเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากการตลาด 1.0 มาจนถึงการตลาด 6.0 ทำให้ธุรกิจต้องเรียนรู้และปรับตัวตามให้ทันจึงจะคว้าชัยชนะ

“ภายใน 5 ปีจากนี้ ถ้าคุณยังทำธุรกิจเหมือนเดิม คุณก็จะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจได้อีกต่อไป จะโดนเตะออกจากธุรกิจ” มร.ฟิลิป ระบุเช่นนั้น

บิดาการตลาดมัยใหม่ ให้คำจำกัดความการตลาด 6.0 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ MarTech หรือการผสานการตลาดเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลสุดล้ำ โดยนักการตลาดจะต้องทำความเข้าใจกับเครื่องมือดิจิทัล เพื่อนำมาใช้เป็น “ตัวช่วย” ในการสร้างประสิทธิภาพทางการตลาด เข้าถึงความต้องการของลูกค้าเชิงลึก (Insight) และเฉพาะเจาะจง (Personalized) เพิ่มยอดขายและกำไรได้ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ซีอีโอต้องการ

“เรามีคอมพิวเตอร์ มากว่าการเป็นเครื่องมือในการเขียน มีอินเตอร์เน็ต มีการปฏิวัติดิจิทัลต่างๆ มี Social Media , E-commerce ทำให้การตลาดเปลี่ยนไปจากยุคการพิมพ์ สู่ยุคเสียง ภาพเคลื่อนไหว และการปฏิสัมพันธ์แบบทันที โดย Machine Learning ,AI, Algorithm สามารถคำนวณสูตรต่างๆจากการเก็บข้อมูลลูกค้า (Customer Journey) ทำให้เกิดความเข้าใจความต้องการของลูกค้าที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น นำกลับไปวางแผนการตลาด นำเสนอวิธีการตลาดใหม่ๆ หรือแม้แต่รู้ข้อมูลคู่แข่ง เพื่อปรับแผนการตลาดได้ทันท่วงที ขณะที่ Chat GPT สามารถผลิตข้อความได้มากมาย ทำให้นักการตลาดสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานสร้างพลัง Content Marketing เพื่อให้มีเวลาไปคิดในเชิงสร้างสรรค์แทน”

นอกจากนี้ นักการตลาดยังสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการกำหนดกลยุทธ์และสื่อสารการตลาด เช่น การใช้ Social Media และ Influencer มาช่วยเพิ่มยอดขาย เทคโนโลยีดิจิทัล ยังจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Immersive Marketing หรือการสร้างการตลาดเสมือนจริง เช่น metaverse ที่บริษัทหรือนักการตลาดพยายามจะสร้างโลกเสมือนจริงให้ผู้บริโภคไปอยู่ในนั้น มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เหมือนถูกกระตุ้นให้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ขณะเดียวกัน ที่ในมุม “ผู้บริโภค” เองก็ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นความฉลาดในการตัดสินใจซื้อ รู้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการจากโลกออนไลน์ ทำให้ “โฆษณา” จะเป็นสิ่งที่ถูกด้อยค่าลง กลายเป็นโลกใบใหม่ทั้งกับนักการตลาด และผู้บริโภค

“ผู้บริโภคจะเลือกซื้อแบรนด์ที่ดีที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องดูโฆษณา หรือคนขายเลย เพราะโลกดิจิทัลทำให้พวกเขามีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่สืบค้นได้อยู่แล้ว สามารถประเมินราคาสินค้ากับคู่แข่ง และถ้าผู้บริโภครักในแบรนด์จะเป็นคนที่กลับมาช่วยโปรโมทแบรนด์ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญของแบรนด์ คือ Smart Pricing (ราคาที่สมเหตุสมผล) และการมีแบรนด์ที่แข็งแรงด้วยคุณค่า อาทิ แบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมดูแลสังคมทำให้โลกยั่งยืน มีช่องทางหลักในการสัมผัสกับลูกค้า (Touch point) และมีความคิดสร้างสรรค์” บิดาการตลาดสมัยใหม่ กล่าวสรุป

ไมโครซอฟท์ ชี้ “AI” ติดสปีดความสำเร็จธุรกิจ

ตามมาด้วยการบรรยาย “Era of AI” โดย Paul Carvouni General Manager Enterprise Business, Microsoft ASEAN บริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีระดับโลก มาเล่าถึงเทรนด์และทิศทางของ AI ในโลกธุรกิจ ว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรดิจิทัลเกิดขึ้นกับทุกธุรกิจ นำไปสู่การสร้างโอกาส โดยเฉพาะการนำเครื่องจักรดิจิทัลเหล่านี้ มาใช้ให้สร้าง “ประสิทธิภาพ” การทำงานไม่ว่าจะเป็นระดับพนักงานหรือผู้บริหาร แปลงสู่การสร้างผลตอบแทนทางในเชิงพาณิชย์ที่ดีกว่า และรวดเร็วกว่า

“เราจะเห็นการกระจายตัวของเทคโนโลยี ไปสู่ธุรกิจและทุกแวดวงอย่างรวดเร็ว อาทิ Chat GPT ใช้เวลาไม่กี่วันในการเข้าถึงผู้คน 100 ล้านคน ขณะที่ Facebook, Internet, โทรศัพท์ ใช้เวลานานกว่านั้น เราจะเห็น 3 ใน 4 ของพนักงานเริ่มใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และยังพบว่าการใช้ AI ในระดับผู้บริหารทำให้การทำงานดีขึ้น 2 เท่า ในแง่ของการสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ พบว่า การลงทุน AI ทุก 1 ดอลลาร์ จะสร้างผลตอบแทนกลับมา 3.5 ดอลลาร์” Paul ให้ข้อมูล

ขณะเดียวกัน Microsoft มีส่วนทำให้หลายองค์กรใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อสร้างผลงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากหลายโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น อาทิ โปรแกรม Microsoft 365 Copilot ในการทำข้อเสนอการขาย เขียนโค้ด เป็นต้น ขณะเดียวกัน องค์กร Microsoft ได้พัฒนา Single Demand Center ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ใช้ machine learning ประมวลความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าที่ใช้บริการของเราจากการปฏิสัมพันธ์ ในลักษณะ Global Demand เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และสร้างฐานลูกค้าใหม่

“AI จะเปลี่ยนรูปแบบการตลาดยุคใหม่ โดยต้องเข้าใจเซ็คเมนต์ลูกค้า พฤติกรรมของลูกค้าว่าเป็นอย่างไร และเราจะนำ AI เข้ามายกระดับประสบการณ์ของลูกค้าได้อย่างไร” Paul ระบุ

เปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล เป็นสินทรัพย์การตลาด

ขณะที่วิทยากรจากสาธารณรัฐเช็ก Jana Marle Zizkova CEO & Co-founder. Meiro and Shelovesdata, Czech Republic บรรยาย “Humanizing Data: Empowering Diversity in (Mar) Tech & Business” ระบุว่า ข้อมูลดิจิทัล (Technology Data) ถือว่ามีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจความหลากหลายของลูกค้า ดังนั้นนักการตลาดจะต้องพยายามที่จะเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลเหล่านั้นให้เป็นสินทรัพย์ โดยใช้ข้อมูลดิจิทัล มาทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดในขณะนั้น

นอกจากนี้ นักการตลาด และซีเอ็มโอ (Chief Marketing Office) โดยเฉพาะผู้หญิง จะต้องไม่กลัวที่จะเรียนรู้เทคโนโลยี โอบรับข้อมูลดิจิทัล เพราะข้อมูลเหล่านี้รายล้อมอยู่รอบตัวในทุกกิจกรรม ขณะที่ “MarTech” เต็มไปด้วยโอกาสมากมายที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ที่ยึด “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง”

อย่างไรก็ตาม ซีเอ็มโอ หรือผู้นำทางกาตลาดที่ดี ไม่ใช่คนที่มีมุมมองด้านดิจิทัลหรือ AI หรือเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลเท่านั้น แต่ต้องมี “หัวใจความเป็นมนุษย์” ด้วย อาทิ เป็นคนช่างสงสัย มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเรียนรู้ รู้จักปรับตัวบนความหลากหลาย ที่จะนำไปสู่การผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

“เราเห็นว่า เทคโนโลยีใหม่ และ mindset ใหม่ จะเป็นสะพานเชื่อม นำเทคโนโลยีไปสู่ชีวิตจริง สู่ความสำเร็จ”

AI เปิดกว้างความคิดสร้างสรรค์การตลาด

ตามตัวด้วยหัวข้อบรรยาย “Leadership in the New Marketingverse” เปลี่ยนผู้นำให้มีสติและสตรองในการตลาดยุคใหม่ โดยวิทยากรจากศรีลังกา Deepal Sooriyaarachchi, Managing Director, SATI Human Development Institute Pvt Ltd., Sri Lanka ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงต้องการผู้นำที่มีความคิดสร้างสรรค์ ถ้าไม่เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงองค์กรจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ไม่ต่างจากยุคไดโนเสาร์ ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว
โดยบทบาทที่ผู้นำควรมี คือ การเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ที่ดี นำมาปฏิบัติให้ได้ มีการพัฒนาทุนมนุษย์ (พนักงาน) และมีความสามารถ-ทักษะเฉพาะตัว เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน และจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสิ่งที่แตกต่าง เป็นแต้มต่อเหนือคู่แข่ง โดยเห็นว่าในยุคที่ AI ช่วยประมวลและสังเคราะห์ข้อมูล ยิ่งจะทำให้มนุษย์ รวมถึงผู้นำ มีความคิดสร้างสรรค์ที่เปิดกว้างมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อย่างไรก็ตามการจะทำสิ่งเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องเริ่มต้นจากการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในด้วยการมี “สติ” อยู่กับปัจจุบันขณะเท่าทันตัวเอง จะทำให้เกิดการรับรู้สิ่งต่างๆรอบตัวจากประสาทสัมผัสที่ชัดเจนขึ้น ทำให้การตัดสินใจดีขึ้น มองเห็นในสิ่งที่หลายคนอาจมองไม่เห็น แปลงสู่ความคิดสร้างสรรค์ สร้างความสำเร็จทางธุรกิจในที่สุด

ผลวิจัยเผย “เมตา –ไมตรี” เชื่อมความสำเร็จธุรกิจ

มาที่การบรรยาย Meta & Mitri : Stratgies for Winning in the New Marketingverse โดย ผศ. ดร. เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสาร และการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดฯ หัวหน้าภาควิชาการตลาด ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด คณะบัญชีฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ดั่งใจถวิล อนันตชัย Chairman of Management Board INTAGE Thailand ที่ร่วมกันเปิดผลวิจัยเมตา -ไมตรี เชื่อมโยงกับความสำเร็จทางธุรกิจ (มีตังค์) ได้อย่างไร โดยระบุว่า จากผลการวิจัยด้วยการตอบถามซีเอ็มโอ 121 คน ที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 1 แสนดอลลาร์ พบว่า

เมตา สามารถเชื่อมโยงความสำเร็จได้ 4.03 คะแนน (คะแนนเต็ม 5) ขณะที่ไมตรี สามารถเชื่อมโยงความสำเร็จได้ แต่มากกว่า ที่ระดับ 4.30 แต่เมื่อนำ เมตา และไมตรี มารวมกัน ผลการวิจัยพบว่า จะสามารถเชื่อมโยงความสำเร็จทางธุรกิจได้มากถึง 4.54 คะแนน หรือเท่ากับโอกาสความสำเร็จจะมีมากถึง 90%

จึงเป็นบทสรุปที่ว่า เมตา (ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล) เป็นสิ่งที่ไร้กรอบ ถ้านำเมตามาอยู่กับไมตรี (การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ดี เห็นอกเห็นใจ ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ รอยยิ้ม) ไม่ใช่แค่ไร้กรอบ แต่จะยืนยาวไม่จบสิ้น และเมื่อเมตา บวกกับไมตรี จะทำให้คุณมีตังค์ นั่นเพราะลูกค้ามองหาแบรนด์ที่คิดเรื่องจิตใจมากขึ้น ไม่คิดเรื่องกำไรเป็นอย่างแรก อาทิ เป็นแบรนดรักษ์โลก สร้างสมดุลระหว่างกำไรและดูแลโลก สอดคล้องกับความมีไมตรี ซึ่งเป็นผลกระทบที่ดีที่ส่งต่อสู่สังคม ขณะที่มีตังค์คือผลกระทบทางการค้า แบรนด์ที่มีชีวิตจิตใจย่อมได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า (ไมตรี -มีตังค์) แต่ถ้าแบรนด์คิดแต่เรื่องมีตังค์ อยู่มิติเดียว ไม่มีมิติที่เชื่อมโยงกับลูกค้า (ไมตรี) ย่อมไม่ได้รับการตอบรับที่ดี (มีตังค์) จากลูกค้าที่ยาวนาน

นอกจากนี้ จากการสอบถามซีเอ็มโอดังกล่าวว่า เครื่องมือดิจิทัลใด สำคัญที่สุดทางการตลาด คำตอบสูงสุดคือ IoT (Internet of things) ซึ่งมีความสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้า ต่อคำถามที่ว่า แพลตฟอร์มใดสำคัญที่สุดทางการค้า ระหว่าง Content , Commerce และ Payment คำตอบที่ได้คะแนนสูงสุดคือ Content

Brand Purpose สร้างตั้งต้นความสำเร็จ “แบรนด์”

การบรรยาย “The Power of Purpose: Elevating Brand Love into Brand Value” ความสำคัญของการสร้างความหมายให้กับแบรนด์เชื่อมโยงกับลูกค้า เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ โดยวิทยากรจากเวียดนาม Huynh Thi Xuan Lien, Vice President – Club of Sales and Marketing Officers (CMSO), Vietnam ระบุว่า แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลจะก้าวล้ำเพียงใด จะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการตลาดเพียงใด แต่สิ่งที่นักการตลาดต้องมองเป็นพื้นฐานความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ คือ การกำหนดจุดประสงค์ของแบรนด์ (Brand Purpose) ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างแบรนด์

ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ การตลาด 6.0 นักการตลาดทั้งหลายต้องบอกตัวเองว่า ต้องกลับไปดูที่ความเชื่อมโยงพื้นฐานความเป็นจริง ที่ “วัตถุประสงค์ของแบรนด์”

“เราเจอคำถามบ่อยมากว่าในสถานการณ์ตอนนี้ Brand Purpose ยังจำเป็นอยู่ไหม เมื่อเราพูดถึง Big Data, AI, Meta บางทีเราก็รู้สึกว่าถูกทิ้งไว้ข้างหลังโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องกลับมามองที่พื้นฐานของการสร้างแบรนด์ว่าคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราเชื่อ วัตถุประสงค์ของแบรนด์คืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างคุณค่า ทำแบรนด์ให้ลูกค้ารัก ภูมิใจ ไม่มีลูกค้าคนไหนอยากจะซื้อสินค้ากับบริษัทที่ไม่พูดถึงเรื่องคุณค่า ในระยะสั้นอาจจะซื้อ แต่ในระยะยาวไม่ใช่แน่นอน”

“นวัตกรรมสำนึกรู้” ต้องอิงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เข้าสู่การบรรยาย “Conscious Innovation: Thriving in the Era of Sustainable Startup Growth” การสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการอย่างสำนึกรู้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจและโลก กับวิทยากรชาวเกาหลี David Sehyeon Baek, Chief Strategy Officer (CSO) – NPCore Inc., Korea ระบุว่า การสร้างนวัตกรรมที่ว่ายากแล้ว แต่การสร้าง “นวัตกรรมที่สำนึกรู้” นั่นยากกว่า

โดยในความหมายของ “นวัตกรรมที่สำนึกรู้” คือการคิดค้นอะไรบางอย่างที่คำนึงถึง “ผลกระทบ” ที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปถึงจุดสุดท้าย โดยนวัตกรรมที่ดีต้องคิดไปไกลกว่าเรื่อง “กำไร” คิดไปถึงการสร้างความยั่งยืนไปพร้อมกัน เมื่อการพัฒนานวัตกรรมไปถึงจุดนั้น ผู้บริโภคจะรู้ถึงคุณค่า และอยากจะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าเหล่านั้น

ทว่า ยังพบปัญหาของผู้บริโภค ว่า การจะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่มีนวัตกรรมสำนึกรู้ หรือไม่นั้น อยู่ที่ “ราคา” ที่ต้องเข้าถึงได้ เป็นต้น เพราะแม้จะรู้ว่าสินค้ามีคุณค่า แต่ถ้าราคาเข้าถึงไม่ได้ ผู้บริโภคมักเลือกตัดใจ ไปซื้อเลือกสินค้าที่ไม่มีนวัตกรรมสำนึกรู้ ขณะที่นักลงทุนก็ต้องการกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง การสร้างนวัตกรรมสำนึกรู้อาจบั่นทอนกำไรลง วิธีการแก้ไขปัญหานี้ จึงอยู่การมองทุกอย่าง “อย่างประนีประนอม” ให้นวัตกรรมสำนึกรู้ที่สร้างขึ้น เป็นที่รับได้กับทุกฝ่าย ผู้บริโภคจ่ายได้ ผู้ถือหุ้นมีความสุข เป็นต้น

“จะต้องยึดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นศูนย์กลาง นักลงทุนแม้จะคุยเรื่องความยั่งยืน แต่พวกเขากลับมองที่การเติบโตและกำไร หรือการยึดความต้องการของลูกค้า แต่ถ้าลูกค้าไม่ต้องการสร้างความยั่งยืน ก็อาจทำให้สิ่งที่เราโฟกัสไม่ถูกต้อง นวัตกรรมสำนึกรู้จึงต้องผสานกับความประนีประนอมกับทุกฝ่าย”

การตลาดหลากหลาย ชนะด้วย Act Local

ต่อเนื่องด้วยการบรรยาย “Think Global, Act Local: Understanding Diversity of Target Audiences” เข้าใจความหลากหลายผู้บริโภค คิดไกลระดับโลก แต่ทำอย่างท้องถิ่นเข้าใจความต้องการลูกค้า จากวิทยากรจากแอฟริกาใต้ Helen McIntee, President of the African Marketing Confederation (AMC), South Africa ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า ในทวีปแอฟริกา ซึ่งประกอบด้วย 54 ประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย มีภาษาพูดกว่า 2,000 ภาษา มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี โดยมีประชากรรวมกว่า 1,400 ล้านคน ในจำนวนนี้ 40% อยู่ในพื้นที่ชนบท จึงเป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องโอบรับความหลากหลายนี้ ด้วย Act Local เฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่

“เราต้องโฟกัสความหลากหลายในแต่ละตลาด ทำแบบเดียวกันจะไม่เหมาะกับทุกอย่าง ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ต้องวาง Brand Positioning กลับไปที่รากเหง้าของลูกค้า เข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี เข้าไปดูพฤติกรรม ค่านิยม คุณค่าที่ลูกค้าต้องการและมองหาจากแบรนด์ เราต้องโฟกัสที่คุณค่าและมูลค่าจะตามมา อาทิ บางชุมชนในแอฟริกา ไม่นิยมแปรงฟันทุกวัน ดังนั้นการจะทำตลาดนี้ อาจจะต้องลดขนาดของยาสีฟันที่จำหน่ายลง ให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้งาน จูงใจการซื้อ นี่คือความเข้าใจตลาดในระดับท้องถิ่น หรือการนำมะเขือเทศแห้ง หัวหอมแห้งไปขายในตลาดแอฟริกา จะไม่ตอบโจทย์กับพื้นที่ ที่แม่บ้านในทวีปนี้เพาะปลูกพืชชนิดนี้กันเอง”

อย่างไรก็ตามมองว่า ทวีปแอฟริกา ยังเต็มไปด้วยโอกาสในการเข้ามาทำตลาด จากประชากรจำนวนมาก และยังมีความต้องการบริโภคสินค้า ขณะที่การซื้อและชำระค่าสินค้าผ่านออนไลน์ทำได้ง่ายมากขึ้น จึงลดข้อจำกัดในการเข้าถึงสินค้าด้วยระยะทาง

“เทรนด์ในแอฟริกาตอนนี้ คือการปฏิวัติด้านดิจิทัล ทำให้ผู้บริโภคก้าวข้ามวิธีปฏิบัติเดิม เช่น คนทำงานในเคนยา แม้จะเป็นพื้นที่ชนบท แต่เมื่อมีสมาร์ทโฟนก็สามารถซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ได้ การตลาดไม่ต้องการการสื่อสารแบบเดิมอีกต่อไป ขณะที่คนในทวีปนี้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน วัยรุ่น ซึ่งเชื่อมโยงกับโลกออนไลน์ได้ดี และคนเหล่านี้พูดถึงการกลับไปสู่รากเหง้าของตัวเอง”

Immersive จักรวาลการตลาด 6.0

มาถึงการบรรยาย “Unveiling Marketing 6.0” โดย Iwan Satiawan, CEO of Marketeers Indonesia และผู้ร่วมประพันธ์หนังสือ “Marketing 6.0 The Future is Immersive” กับ Philip Kotler และ Hermawan Kartajaya ที่จะมาให้ความกระจ่างจักรวาลการตลาด 6.0 โดยระบุว่า

การตลาด 6.0 คือการมองไปที่ “Immersive” นั่นคือ การสร้างประสบการณ์ที่สมจริงให้กับผู้บริโภคแบบไร้เส้นแบ่ง ผ่าน Chat Bot (โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นในการตอบกลับการสนทนาด้วยตัวอักษรแบบอัตโนมัติผ่าน Messaging Application เสมือนการโต้ตอบของคนจริง ๆ) Augmented Reality-AR (เทคโนโลยีที่นำข้อมูลเสมือนมาผสมผสานกับโลกความเป็นจริง) Virtual Reality-VR (เทคโนโลยีจำลองสถานเป็นโลกเสมือน) เป็นต้น ซึ่งล้วนมีฐาน AI ของการตลาดยุค 5.0 มาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุน

โดย Immersive มีหลายองค์ประกอบ ทั้งประสบการณ์ในการเล่าเรื่องที่จำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ , การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า, การมีประสบการณ์ร่วมกับลูกค้าแบบไร้รอยต่อออนไลน์และออฟไลน์ (Omni Channel) เป็นต้น

“การตลาด Immersive จะไร้รอยต่อ โดยใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเพื่อส่งมอบประสบการณ์บางอย่างให้กับลูกค้า เช่น ชำระค่าสินค้าแบบไม่เจอคน ไม่ต้องสัมผัส (touchless), การลองเสื้อเสมือนจริงได้ในโลกดิจิทัล เพื่อทำให้ลูกค้าได้เจอกับผลิตภัณฑ์ เป็นต้น”

เขาระบุว่า ประสบการณ์เหล่านี้ จะผ่านเทคโนโลยี เช่น IoT ในการเก็บข้อมูลและตีความสิ่งที่เกิดขึ้นทางกายภาพ, AI คือการประมวลผลข้อมูล, VR /AR เชื่อมโลกจริงกับโลกเสมือน และใช้ Block Chain ในการขยายโลกความเป็นจริงออกไปเป็น Metaverse หรือ การผสานเทคโนโลยีแห่งโลกเสมือน ที่สร้างสิ่งแวดล้อมของโลกจริง

ผู้นำ นำด้วยเป้าหมาย เกาะติดเทรนด์

ปิดท้ายสัมมนาในวันแรกด้วยการบรรยาย “From Purpose to Prosperity: Leadership Philosophy” ปรัชญาในการเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล โดย จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างการเติบโตยั่งยืนให้กับธุรกิจ โดยระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการก้าวสูการเป็นผู้นำ คือต้องตั้งเป้าหมายตั้งแต่ต้น และมุ่งมั่นไปสู่สิ่งนั้นอย่างไม่ลดละ โดยต้องไม่มองว่าเพศสภาพว่าเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมาย

“ดิฉันตั้งเป้าไว้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบว่า จะเป็นผู้นำ สร้างอาณาจักรของตัวเอง และต้องมีทัศนคติว่าฉันทำได้ ไม่หยุดเรียนรู้ มี Growth mindset อยากจะเติบโตไปข้างหน้า คิดบวกและคิดไปสู่อนาคต ถ้าทุกคนคิดและทำแบบนี้ จะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น”

ขณะที่โลกที่เคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อนาคตมาเร็วกว่าที่คิด ด้วยเมกะเทรนด์ดิจิทัล ทำให้ ดับบลิวเอชเอ ต้องปรับตัวสู่การเป็น “Tech Company” พร้อมไปกับเมกะเทรนด์คิดเพื่อโลกเพื่อความยั่งยืน ดูแลสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ซึ่งเป็น DNA ขององค์กรในขณะนี้ ผ่านทั้งการลงทุนด้านโลจิสติกส์ การพัฒนาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม การลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภค ที่จะจะต้องคำนึงถึง 2 เมกะเทรนด์นี้ ทั้งฐานการผลิตในไทยและเวียดนาม

และในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน เป็นวัน “Thailand Marketing Day 2023” ซึ่งเป็นการตีความ The New Marketingverse และ Marketing 6.0 ในบริบทของประเทศไทย มาเจาะลึกว่า Soft Power แบบของไทย จะพาเราให้ก้าวนำในโลกการตลาดยุคใหม่ได้อย่างไร

หนุนรัฐ-เอกชน ร่วมมือสร้างพลังในโลก Marketingverse

คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐกในพิธีเปิดงาน ในหัวข้อ Unlocking Thailand’ s Branding in the New Marketingverse โดยกล่าวว่า

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มุ่งเน้นการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ และพร้อมสนับสนุน ส่งเสริม กำกับ และยกระดับคุณภาพมาตรฐานเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย ทั้งตลาดดั้งเดิม และโลกเสมือนจริง ซึ่งการจะพลิกโฉมประเทศตามแนวทางดังกล่าวได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงนักการตลาด ที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในนาม ทีมไทยแลนด์ เพื่อสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ในโลกของ Marketingverse หรือการตลาดยุคใหม่ ในเรื่อง ซอฟท์ พาวเวอร์ จะเป็นอีกพลังที่มีความสำคัญในเชิงนโยบายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนความเป็นไทยในหลากหลายมิติ เช่น นวัตกรรมทางการอาหาร สินค้าแฟชั่นร่วมสมัย กิจกรรมเฉลิมฉลองทางวัฒนธรรม กิจกรรมความบันเทิง และภาพยนตร์ เป็นต้น ความร่วมมือกัน จะผลักดันความสำเร็จของ ซอฟท์ พาวเวอร์ ทำให้แบรนด์ไทย เป็นมากกว่าแบรนด์ และสามารถก้าวไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในประชาคมโลกได้

เปิดโพลล์ผู้บริหารการตลาดระดับสูง มองการตลาดปีหน้าสุดท้าทาย

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดโพลล์สำรวจ “2024 Way Forward MAT X MAT CMO Coucil’ s Prediction” มุมมองจากนักการตลาดทั่วประเทศ โดย 2 นักวิชาการด้านการตลาด ดร.สมชาติ วิศิษฐชัยชาญ อุปนายกฝ่ายองค์ความรู้ด้านการตลาด กรรมการบริหารและที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสารและการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดฯ หัวหน้าภาควิชาการตลาด ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด คณะบัญชีฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากการสำรวจ CMO จำนวน 121 คนทั่วประเทศ มองปีหน้า (2567) เป็นอีกปีที่ท้าทาย โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะโตยาก และคิดว่าจะเติบโตเพียง 1.33% ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดไทยมากที่สุด คือ สภาพของเศรษฐกิจโลก ถัดมาคือ ลูกค้า และ เทคโนโลยีดิจิทัล ตามลำดับ ส่วน 3 เทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภค CMO มองว่า อันดับแรกคือ เทรนด์สุขภาพ และตามมาด้วย คุณภาพ และ ดิจิทัล สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น และแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านงบการตลาดมีการเปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ปีก่อนที่คาดจะเติบโตถึง 10% แต่สำหรับปีหน้า (หรือจากการสำรวจครั้งนี้) CMO มากกว่า 50% ประเมินว่างบการตลาดจะไม่เพิ่มขึ้น และถ้าจะเพิ่มก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก บ่งชี้ได้ว่า การทำงานของนักการตลาดจะต้องใช้ความคิดมากขึ้น ด้วยการยกระดับความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และต้องคิดว่าจะสร้าง Value อย่างไรด้วยงบประมาณเท่าเดิมหรือน้อยกว่า แต่ได้ value ที่สูงขึ้น ส่วนการลงทุนในแพลตฟอร์มของนักการตลาด จะให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์ม คอนเทนท์ มากที่สุด ตามมาด้วย อีคอมเมิร์ซ และ เพย์เม้นท์ และในมุมมองของนักการตลาด พบว่า People ยังมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือ Profit และสุดท้ายคือ Planet

นอกจากนี้ ในโลก “เมตะ” เทคโนโลยีที่นักการตลาดไทยคิดว่าสำคัญ คือ AI ถัดมาคือ IOT และ Robotic ตามลำดับ ส่วน “ไมตรี” มองว่าปัจจุบัน จะมีไมตรีกับลูกค้าอย่างเดียว ไม่เพียงพอแล้ว แต่จะต้องมีไมตรีแบบองค์รวมทั้งหมด นอกจากลูกค้าแล้ว ยังมี พาร์ทเนอร์ พนักงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม นอกจากนี้ นักการตลาดมองว่า ลูกค้า, ดาต้า และ ความยั่งยืน คือคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับปีหน้า ขณะที่อุปสรรคสำคัญคือ สงคราม เศรษฐกิจ และ ต้นทุน บ่งชี้ถึงสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ คาดเดาไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นสิ่งที่นักการตลาดคำนึงถึง

ดร.สมชาติ และ ดร.เอกก์ สรุปถึง 4 คาถาสำหรับนักการตลาด สำหรับปีหน้า ด้วย 4 ท คือ “ทิ้ง” หมายถึง ให้ทิ้งความเชื่อเดิม ๆ แม้จะเคยประสบความสำเร็จมาแล้วแต่ไม่ควรยึดติด และความคิดสิ่งใหม่ ๆ “ทำ” คือการลงมือทำ โดยไม่ต้องรอ ลองเรียนรู้ ด้วยการทำเลย และใช้เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ ๆ “ทีม” เป็นเรื่องสำคัญมากในปัจจุบัน การจะประสบความสำเร็จได้จะต้องเปิดใจคุยกันทั้งอีโคซิสเท็ม และ “ธรรม” หมายถึงการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน โดยทั้ง เมตะ ไมตรี และมีตังค์ สำคัญด้วยกันทั้งหมด ที่จะสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน และเป็นการสร้างคุณค่าแบบที่เรียกว่า Real Value (คุณค่าที่แท้จริง)

The 1 ผสานเทคโนโลยี สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า

คุณหรรษา วงศ์สิริพิทักษ์ Head of Marketing, The 1 เซ็นทรัล กรุ๊ป กล่าวในหัวข้อ Tech and Humanity : Foresight for a better Future ว่า การนำ Technology และ Humanity มาผสมผสานกันนั้น เป็นสิ่งที่ The 1 เซ็นทรัล กรุ๊ป ให้ความสำคัญและดำเนินการมา โดยยกตัวอย่างใน 3 เรื่อง คือ

1. Data Intelligence ต้องมีความเข้าใจลูกค้า และจะต้องใช้ให้ถูกต้อง ซึ่ง ดาต้า จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างการมีส่วนร่วม ด้วยความเข้าใจมนุษย์ได้อย่างแท้จริง
2. Technology ที่จะเป็นเครื่องมือเปลี่ยน Loyalty Platform ให้เป็น Future Platform โดย MarTech จะเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ในระดับบุคคลได้อย่างแท้จริง และจะเป็นเครื่องมือในการช่วยคัดเลือกคอนเท้นท์ที่ถูกต้อง ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อแนะนำลูกค้าได้อย่างถูกต้อง และ
3. Longterm Loyalty จะทำอย่างไรที่จะให้ลูกค้ายังคงอยู่กับเราต่อไป

สิ่งที่ The 1 ทำคือ Digitization การนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับดาต้า มุ่งเน้นขยายประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เช่นการนำ OTO เชื่อมต่อกันทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ดังนั้น Digitization ที่พูดถึงจะไม่ได้เน้นไปที่่ความใหม่ แต่เน้นที่ว่าทำอย่างไรที่จะช่วยแก้ปัญหา ลดความยุ่งยาก และเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้าได้ดีขึ้น และสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า

ซอฟท์ พาวเวอร์ และ แบรนด์ดิ้งประเทศไทย ต้องไปด้วยกัน

การเสวนาในหัวข้อ The Thaivantage : How Thainess Shapes Success in the New Marketingverse ว่าด้วยเรื่อง ซอฟท์ พาวเวอร์ (Soft Power) จาก 3 กูรูนักการตลาด

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในความหมายของซอฟท์ พาวเวอร์ นั้น มีอยู่ 3 องค์ประกอบคือ Culture, Foreign Policy และ Political Value โดยจะเป็นการมองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน คือไม่ใช่การบอกว่าเราเป็นอะไร แต่เราต้องทำให้เขาเชื่อว่าเราเป็นอะไร นอกจากนี้ ซอฟท์ พาวเวอร์ และ แบรนด์ดิ้ง จะต้องไปด้วยกัน และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มี เช่น วัฒนธรรม โดยใช้สื่อ และคอนเทนท์ เป็นเหมือนยานพาหนะ ในรูปของเนื้อหา ที่จะนำเครื่องมือต่าง ๆ ออกไปพูดถึงในต่างประเทศ

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ว่าเราจะเน้นเรื่องอะไร แต่ไม่ง่ายนักในการเลือก เพราะว่ามีส่วนต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้นต้องวิเคราะห์ให้ดีก่อน โดยตอนนี้เลือกออกมาแล้วใน 11 อุตสาหกรรม สิ่งที่ทำต่อ คือพยายามรวบรวมอินไซต์ของแต่ละอุตสาหกรรม และนำเอามารวบรวมออกมาเป็นกลยุทธ์ให้ได้ และต้องเข้าใจ ทาร์เก็ต ให้ได้ แต่การทำในเรื่องนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนเข้ามา เพราะเอกชนจะเป็นคนขับเคลื่อน และการไป จะต้องไปแบบมีกลยุทธ์ มีการสื่อสารที่ชัดเจน และไปแบบองคาพยพทั้งหมด”

ด้าน คุณพลพัฒน์ อัศวะประภา Founder & CEO, Asava Group กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรายังทำให้ต่างชาติเชื่อไม่ได้ว่าเรามี value เพราะไม่มีกลยุทธ์ในการต่อยอดกับสิ่งที่ภาครัฐบอกว่ามีตั้งแต่ระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพราะการจะสร้างแบรนด์ จะต้องมี โรดแมป มีการกำหนดขอบเขต กำหนดกระบวนการ และกำหนดผลลัพธ์ที่อยากได้ก่อน ซึ่งหากทั้ง 4 เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน ก็จะไม่สามารถไปถึงฝันได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าประเทศไทยมีซอฟท์ พาวเวอร์ อยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทำรายได้เข้าประเทศมากที่สุด ไม่ว่าจะมาถ่ายรูปที่ สยาม พารากอน หรือการกินสตรีทฟู้ด อาหารไทย แต่ก็เป็น ซอฟท์ พาวเวอร์ ชนิดที่ไม่ได้ตั้งใจให้เป็น เพราะไม่ได้มีการจัดสรร อย่างเป็นระบบ

“และการจะขายซอฟ์ พาวเวอร์ ให้ได้ คือการสะกดจิตลูกค้า วิธีการตลาด คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถสะกดจิตให้เขาเชื่อให้ได้ ตรงนี้ นักการตลาดจะต้องเข้าใจในกลยุทธ์ว่าควรต้องใช้กลยุทธ์อะไร อย่างไร แน่นอนว่า นโยบายของรัฐในขณะนี้ทำให้ภาคเอกชนกระตือรือร้น แต่การจะเกิดขึ้นได้ ทุกหน่วยงานจะต้องทำงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน และมีเคพีไอ เดียวกัน สุดท้าย อยากเสนอด้วยว่า แม้ว่าจะมีเครื่องมือต่าง ๆ อยู่มากมาย ใน 11 อุตสาหกรรม แต่จำเป็นต้องหาช้างเผือกในแต่ละอุตสาหกรรม หาแบรนด์ที่มีศักยภาพมากพอที่จะยกระดับไปตามที่ภาครัฐต้องการให้ได้ เพื่อไปอวดต่อสายตาชาวโลก ให้พวกเขาเห็น แล้วอยากจะทำความรู้จักกับประเทศไทยให้มากขึ้นในมิติต่าง ๆ”

และ ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสารและการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดฯ หัวหน้าภาควิชาการตลาด ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด คณะบัญชีฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในขณะที่ทุกคนกำลังพูดถึงคำว่า ซอฟท์ พาวเวอร์ (Soft Power) จนเป็นกระแส แต่จริงๆแล้วมันมีขอบเขตของคำนี้ เราต้องเข้าใจว่าสุดท้าย ซอฟท์ พาวเวอร์ เป็นเหมือนเครื่องมือเพื่อให้เข้าไปโน้มน้าวให้เกิดผลบางอย่าง สมัยก่อนเราสู้กันด้วย ฮาร์ด พาวเวอร์ (Hard Power) หรือ กำลังรบ โชว์ศักยภาพเพื่อความยำเกรง แต่สำหรับ ว่า ซอฟท์ พาวเวอร์ นั้นต่างไป และเครื่องมือที่สำคัญมากในการส่งต่อซอฟท์ พาวเวอร์ คือเรื่อง แบรนด์ อย่างเช่น แมคโดนัล สตาร์บัค 7/11 KFC หรือแบรนด์อื่นๆมากมาย ก็เป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมอเมริกันที่แพร่เข้าไปในหลายประเทศมานานมากแล้ว และผู้บริโภคก็เปิดรับอย่างสบายใจ

ในมุมของ ซอฟท์ พาวเวอร์ นั้นจะให้เกิดผลต้องมี 3T คือ
1. Tool เครื่องมือในการส่งต่อ ไม่ว่าจะเป็นการทูต (diplomacy) การเมือง (foreign policy) วัฒนธรรม (culture) เหล่านี้ล้วนเป็น tools แต่แค่มีเครื่องมือยังไม่พอ เราต้องมี
2. Tactic ในมุมของกลยุทธ์การใช้ ซอฟท์ พาวเวอร์ เพื่อจะไปสร้างมูลค่าในส่วนไหน โน้มน้าวให้เขาคล้อยตามชื่นชมเราในด้านใด ต้องมี Tactics และท้ายที่สุด คือ
3. Target เราจะวางกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร เข้าถึงคนกลุ่มไหน หากเรามี 3T นี้ชัดเจน เครื่องมือดี วิธีการดี กลุ่มเป้าหมายชัด กลยุทธ์ของ ซอฟท์ พาวเวอร์นั้นจึงจะเกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ

มองมุมใหม่ในโลกธุรกิจ กับดอยตุง และ BRANDi

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วยคุณ คุณปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด มาร่วมแบ่งปันมุมมองในหัวข้อ Reshaping the Business Landscape with Higher Purpose


โดย ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวว่า ดอยตุงมองในเรื่องการพัฒนา 3 เรื่องคือเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยต้องการทำให้สมดุลกันทั้งหมด และในช่วงหลังมานี้ เริ่มเข้าใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เริ่มเห็นคือโลกปัจจุบันมีความห่าง(ถ่าง) ในด้านรายได้มากขึ้น รวมทั้งด้านศีลธรรม และการใช้ทรัพยากร จึงต้องกลับมาดูใหม่ว่าจะต้องแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้อย่างไร ดังนั้น ที่อยากจะเน้นหนักคือการพัฒนาไปที่จิตใจคน ให้มีความคิดอย่างแบ่งปัน มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และสังคม การมองเรื่องผลประโยชน์ จะไม่มองที่ตัวเรา แต่เป็นผลประโยชน์ของชุมชน ซึ่งโมเดลแบบนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจและการใช้ทรัพยากร

นอกจากนี้ การจะปิดช่องว่างทั้งด้านเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้นั้น จะต้องนำมาอยู่ในการปฏิบัติทุกวัน เช่นสิ่งที่ดอยตุงทำ คือการจัดการขยะ จนปัจจุบันดอยตุง ถือเป็นพื้นที่ Zero waste ที่ใหญ่ที่สุด มีการจัดการขยะบนดอยตุงได้ถึง 49 ชนิด นำไปเผาเพียง 12% และอีก 88% เป็นการนำกลับเข้ามาในระบบ สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ รวมถึงการเพิ่มบทบาทของมูลนิธิ ให้เป็นเหมือนคนกลางเชื่อมต่อระหว่าง เอกชน และชุมชน โดยดึงเอกชนเข้ามาสนับสนุนชุมชนในการดูแลรักษาธรรมชาติ ซึ่งเอกชนจะได้รับคาร์บอน เครดิตกลับไป และยังสามารถนำเข้าไปใส่ใน ESG รีพอร์ต ได้ โดยปีที่แล้วได้ทำไปแล้ว 1 แสนไร่ มีเอกชนเข้าร่วม 14 บริษัท ส่วนปีนี้จะเพิ่มเป็น 1.5 แสนไร่

ส่วน คุณปิยะชาติ กล่าวว่า การตัดสินใจซื้อของคนในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว คือไม่ได้ซื้อสินค้าเพื่อซื้อสินค้าอย่างเดียว แต่พวกเขากำลังเลือกที่จะสนับสนุนหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับแบรนด์ด้วยเป้าหมายที่สูงกว่านั้น โดยเลือกเพื่อจะเป็นคนที่อยากจะเป็น ดังนั้น จึงไม่ใช่การซื้อสินค้ากับแบรนด์ที่บอกว่าจะเป็นองค์กรที่รวยที่สุดในโลก อีกต่อไป และนี่คือ Higher Purpose ทุกคนคือหนึ่งแบรนด์ที่สามารถปรับเป้าหมายของตนเองได้ แล้วการแข่งขัน จะเปลี่ยนไปเป็นการแบ่งปัน จากที่ทะเลาะกัน ก็เปลี่ยนเป็นความร่วมมือกันได้

“ในมุมของนักการตลาด เราต้องเลิก Customer Centric ถ้าทุกคนสบายเกินไปโลกเราจะแย่ เราจึงต้องเปลี่ยนมาพูดในมุมของ Customer Collaboration ต้องมาช่วยกันทำบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้น นักการตลาดควรให้ความรู้ลูกค้าด้วยซ้ำ ว่าการเป็นลูกค้าที่ดีจะต้องทำอย่างไร และการให้ข้อมูลในลักษณะนี้ จะเป็นการช่วยสร้างความภักดีในแบรนด์ โดยการสร้างคุณค่าผ่านมุมของการนำเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมใส่กลับเข้ามา”

Success Stories: METTA in Action

ผู้บริหารจาก บูติคนิวซิตี้ และ แปลนทอยส์ ได้มาแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์จริงในการนำหลัก METTA (ความเมตตา) เข้ามาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจของพวกเขา สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่โดยเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจของเรา เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่าในอนาคต

คุณประวรา เอครพานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีปรัชญาที่ต้องการมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า ดังนั้นเสื้อผ้าที่เป็นสินค้าของบริษัท จะเน้นการออกแบบที่ใส่ได้นาน มีคุณภาพการตัดเย็บ ลูกค้าจะได้รับของดีและมีความสุขไปกับสินค้าของเรา ซึ่งนี่คือความแตกต่าง ที่เสื้อผ้าบริษัทฯ จะไม่ใช่ waste (ของเสีย) เพราะใส่ได้ยาวนานกว่าพวก ฟาสต์ แฟชั่น

นอกจากนี้ ในส่วนของเศษผ้า มีการนำมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มเข้ามา โดยบริษัทมีโปรเจกต์เกิดขึ้นหลายโปรเจกต์ เช่นล่าสุด โครงการ A’MAZE Flora (เอ-เมส ฟลอร่า) ที่นำผ้าส่วนเกิน ซึ่งเกิดจากการตัดเย็บเสื้อผ้าแบรนด์ กี ลาโรช มาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ผ้ารักษ์โลก สื่อสัญลักษณ์แทนกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม พร้อมนำรายได้จากการจำหน่ายมอบให้แก่มูลนิธิถันยรักษ์ฯ และส่วนที่เหลือจากการทำดอกไม้ ก็จะนำมาปั่นใหม่อีกครั้ง และทอเป็นผ้าทำเป็นเครื่องแบบยูนิฟอร์ม เป็นต้น

“เราหาเจอว่า waste คือ value และอยากทำ ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่ทำเพื่อลูกหลาน ทั้งยัง ปลูกฝังให้คนในองค์กรได้มีความตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้ ฝึกเป็นนิสัยและสนุกไปกับมัน มอบความสุขให้กับตัวเองที่มีความสุขเมื่อได้ทำ จึงเห็นว่าการจะทำเรื่องเหล่านี้ ทำได้ ให้ทำเลยไม่ต้องรอใคร เพราะไม่ได้ทำร้ายใคร”

คุณโกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด เล่าว่า บริษัทฯ มีแนวคิดมาตั้งแต่เริ่มต้นในการทำธุรกิจ บนหลักที่ต้องไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เพราะอยากเห็นโลกที่ดีขึ้น โดยพบว่าสมัยก่อนไม้ยางพาราถูกทิ้งไม่ได้ถูกนำมาเพิ่มมูลค่า จึงคิดที่จะนำมาเป็นเป็นของเล่นเด็ก และยังดึงคอนเซปต์การรีไซเคิลมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น การนำขี้เลื่อย มาทำเป็นวัตถุดิบตัวใหม่ ทำให้ waste ที่เกิดขึ้นกลายเป็นมีมูลค่าเพิ่มเข้ามา

โดยสินค้าของบริษัทฯ ส่งออกมากกว่า 98% และพบว่าคู่ค้าในต่างประเทศปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มาก การที่บริษัทฯ มี คาร์บอน ฟุ้ตพริ้น ทำให้ได้ลูกค้าอย่าง ดิสนีย์ เข้ามาเพิ่ม และอีกตัวอย่างที่ทำบนหลักเมตตา ก็คือการ ออกแบบของเล่นสำหรับเด็กพิการ นำไปแจกจ่ายให้กับลูกค้าทั่วโลกผ่านตัวแทนจำหน่าย จนกลายเป็นว่า สินค้านั้นที่มีความต้องการมาก ซึ่งจากไอเดียดี ๆ กลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่ทำรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นได้

Success Stories: MITRI in Action

ผู้บริหารของ Nanyang , Carnival , และ BBQ Plaza จาก 3 แบรนด์ 3 กลุ่มธุรกิจ มาแชร์แนวคิด การใช้ “Mitri” การสร้างมิตรภาพในโลกธุรกิจที่สามารถช่วยเสริมสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งและเติบโตได้จริง


ดร.จักรพล จันทวิมล
กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า คำว่าไมตรีในโลกธุรกิจนั้น มาคู่กันอยู่แล้ว มันรวมทั้งการมีไมตรีกับลูกค้า เพื่อนร่วมธุรกิจ เพื่อนร่วมอุตสาหกรรม และไมตรีสู่ชุมชน ที่สำคัญคือ คู่แข่ง การที่เรามีไมตรีต่อกันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน หมายถึงการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์มากที่สุด

โดยไมตรีในมุมของลูกค้า มองว่าสำคัญมาก ในเชิงการตลาดก็คือการเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ่ง รู้ว่าลูกค้ามีปัญหาอะไร ต้อง Empathize ลูกค้า เช่น เด็ก ป 1 ที่พวกเขามีปัญหากับการผูกเชือกรองเท้า ผูกเชือกรองเท้าไม่เป็น ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีใครแก้ปัญหานี้ได้ นันยางเลยแนะนำเชือกยืดหยุ่น เป็นเชือกยางที่ไส่รองเท้าแบบไม่ต้องผูก นั่นคือการเข้าใจลูกค้าแบบมนุษย์ด้วยกัน หรือในมุมของเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม ก็สามารถใช้ไมตรีต่อยอดได้ เช่น ในแคมเปญ คนธรรมดา ของห่านคู่ ที่เราเล่นต่อโดยการตอบกลับไป ก็สะท้อนถึงความเป็นเพื่อนกันของแบรนด์ มีไมตรีต่อกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพรวมของตลาดมีความสนุกมากขึ้น


คุณรัฐ ตระกูลไทย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า ไมตรี เป็นความรู้สึกถึงความเข้าใจ ซึ่งมีองค์ประกอบทั้ง ความเข้าใจว่าลูกค้าอยากได้อะไร ต้องการอะไร และความเข้าใจในองค์กรของเราเอง เข้าใจในพนักงาน พาร์ทเนอร์ ความเข้าใจกัน ก็หมายถึงการมี ดีเอ็นเอที่ตรงกัน เช่น แคมเปญ “อยู่ด้วยกัน ก๊อน” เราเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่มีคำถามว่า ความสำเร็จเท่ากับความสุขไหม หากเป็นคนรุ่นก่อน เราต้องทำงานหนักก่อนถึงจะสำเร็จและมีความสุข แต่สำหรับคนรุ่นใหม่เขาต้องการความสุข ณ วันนี้เลย เราจึงหยิบจุดนี้เข้ามาสร้างเอ็นเกจกับลูกค้า ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่เขาจะอยู่ในออนไลน์เป็นหลัก

“เราใช้ตัวแทนแบรนด์ ซึ่งหากเปรียบกับ บาร์บีกอน ก็จะเป็นเหมือนคนคนหนึ่ง เราพยายามส่งให้ก้อนไปอยู่ในโลกต่าง ๆ ให้มากที่สุด พร้อมที่จะเข้าไปหาพันธมิตร ไปซน ไปรู้จักโลกใหม่ตามที่อยากรู้ และการมีเพื่อนก็เท่ากับเรารู้จักลูกค้าที่หลากหลายขึ้น และเพื่อนก็จะพาเพื่อนมาให้เราได้รู้จักมากขึ้น และเราจะสามารถตอบโจทย์ได้หลากหลายเช่นกัน นอกจากนี้ สำหรับแบรนด์เอง การมีตังค์อย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีตัวตนในใจลูกค้าด้วย ซึ่งวันนี้เราจะเป็นเพื่อนกับเขา”


คุณอนุพงศ์ คุตติกุล
ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Carnival กล่าวว่า ไมตรี หมายถึงความร่วมมือกัน ยุคนี้คือยุคแห่งความร่วมมือ แม้จะเป็นคู่แข่งก็ไม่จำเป็นต้องมาฟาดฟันกันเหมือนสมัยก่อน แต่สามารถมาร่วมมือกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆให้กับธุรกิจ อย่างแบรนด์ Carnival นั้นมีการร่วม Collab กับแบรนด์ต่างๆมากมาย (Collaboration) ก็คือไมตรีอย่างหนึ่ง

แต่สิ่งสำคัญของการทำ Collaboration นั้น ความสำคัญคือระดับของการร่วมมือกันอย่างเต็มที่ สำหรับตน การจะทำอะไร ไม่ได้หวังที่ผลของตัวเงินเป็นปัจจัยหลัก เพราะหากใช้เรื่องเงินเป็นที่ตั้งแล้ว จะทำให้มีข้อจำกัดในการทำงานร่วมกัน หัวใจความสำเร็จ คือการร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ถ้าเบาๆเราไม่ทำ ถ้าทำ collab แล้วอยู่ในเซฟโซน ก็จะไม่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ดังนั้น จึงจะไม่ทำเบาๆ แต่หากจะทำต้องทำให้สุด ซึ่งคีย์ ซักเซส ของการทำ collab คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เกินความคาดหวังของลูกค้า และต้องไปให้สุดแบบให้เดาทางไม่ถูก อย่างที่เพิ่ง Collab กับทางบาร์บีคิวพลาซ่าไป เราไม่ได้ทำแค่ออกแบบลายเสื้อ แต่เราร่วมมือกันสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าแบบเกินความคาดหวังผลลัพธ์จึงจะคุ้มค่า


“Nui’ s Talk on the New Marketingverse” มุมมองจากหนุ่ย แบไต๋ ถึงจักรวาลการตลาดที่เปลี่ยนไป

ในช่วงปิดท้ายของงานสัมมนา World Marketing Forum ครั้งที่ 3 นี้ คุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด มาสรุปความเปลี่ยนแปลงของโลกการตลาดได้อย่างน่าสนใจว่า

ในยุคนี้มีเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มช่องทางใหม่ๆเกิดขึ้นเยอะ อย่างใน Web 3 ก็มีช่องทาง Social Media เกิดขึ้นมากมาย ในมุมของนักการตลาด เราต้องทันโลก เราต้องอยู่ตั้งแต่ต้นทาง เพราะถ้าแพลตฟอร์มใหม่ๆเหล่านั้นมันดังแล้วค่อยทำ มันไม่ทันแล้ว แต่ถ้าเราไว เราจะสามารถสร้างมูลค่าในต้นทางได้ นักการตลาดจึงหยุดไม่ได้ ต้องคอยเสาะแสวงหา ว่าตัวต่อไปนั้นคืออะไร และเมื่อเราได้ลองใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ เราก็จะได้รับความรู้ใหม่ๆได้ ถึงแม้แพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีเหล่านั้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับแบรนด์เราหรือการทำงานของเราโดยตรง แต่นักการตลาดที่ดีนั้น ต้องเป็นกลุ่มแรกๆที่สามารถเข้าไปคุยในที่ๆคนกำลังพูดคุยกันอยู่ได้อย่างกลมกลืน

ส่วนเรื่องของความเปลี่ยนแปลงนั้น สิ่งที่เห็นชัดคือ ขณะนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังจากโควิดหมดไป ผ่านไป 3 ปี ลูกค้าเปลี่ยนอีกครั้ง โจทย์เปลี่ยน ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องหาการกระทำใหม่ๆ ให้เกิดผลใหม่ๆ หา New Growth Engine เป็น เครื่องยนต์ตัวใหม่ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัท อย่างเรื่องง่ายๆใกล้ๆตัว อย่าง TikTok Live ก็กลายเป็นโอกาสสำหรับคนที่มองเห็นและคว้ามันไว้ บางคนสร้างยอดขายได้กว่า 22 ล้านในวันเดียวก็มีมาแล้ว ส่วนเทรนด์ใหม่ที่จะมาแน่ คือ เมตาเวิร์ส แต่ก่อนเราจะก้าวสู่ยุคเมตาเวิร์ส เราจะเข้าสู่ยุคของ เจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) โดยฉพาะพวกแชตบอท (Chat Bot) ต่างๆ ซึ่งยุคนี้ลึกและใช้งานได้ดีกว่าแค่ข้อมูลผิวเผิน มีการเรียนรู้ไว จึงจะมีผลกับการใช้งานในวงกว้าง และส่งผลให้คนรุ่นใหม่ต้องฝึกความสามารถในการตั้งคำถาม เพื่อช่วยเรื่องการสั่งงานกับ AI และสิ่งนี้จะมาถึงเราอย่างแน่นอน

และสุดท้าย ไม่ต้องไปหวั่นไหวเรื่องวิกฤต เพราะทุกสมัย ก็จะมีวิกฤตตามช่วงเวลาของมัน การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้ทุกวัน ดังนั้นจะต้องมองไปข้างหน้า เพิ่มความรู้ สร้างความเปลี่ยนแปลง และขอให้มี Purpose มีเป้าหมายของชีวิตและมีเป้าหมายของธุรกิจเราในทุกๆวัน

และทั้งหมดนี้คือเนื้อหาดีๆจากงาน World Marketing Forum ครั้งที่ 3  เปิดจักรวาลการตลาดยุคใหม่ “The New Marketingverse: Meta Mitri Meeting” การตลาดยุค 6.0 Immersive Market ที่เคลื่อนด้วยพลังแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล ที่นักการตลาด และผู้บริหารต้องทำความเข้าใจ เพื่อคว้าโอกาสนั้นมาไว้ให้ได้


ท่านสามารถสอบถามเกี่ยวกับงานสัมมนาอื่นๆ ได้ที่ 02 679 7360-3,
E-mail: [email protected] หรือ www.marketingthai.or.th

Tags:

ผู้เขียน
MAT TEAM

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

สมัครรับข่าวสาร

logo