Marketing Insight

แบรนด์ต้องปรับ เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน มารักตัวเอง พร้อมๆ ไปกับรักษ์โลก

2.6k
SHARE

จากสภาพอากาศที่ดูเหมือนจะแย่ลงเรื่อยๆ พร้อมกับโรคระบาดที่เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนทั่วโลก เป็นตัวกระตุ้นทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนและการดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคมากถึง 75% เคยตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะแบรนด์ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นก็ตาม

ผู้บริโภคยังเชื่อในพลังของตัวเองในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติเช่นนี้

จากการติดตามฟังเสียงผู้บริโภคผ่าน Social Listening Tool ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ของบริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) ทำให้เห็นว่า มีผู้บริโภคจำนวนมากพูดถึง และแสดงความเป็นห่วงเรื่อง ปริมาณขยะ ไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟม ถุงพลาสติก ที่มาพร้อมกับการเติบโตของฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยใน 3 เดือนนี้ มีคนพูดถึงประเด็นนี้ มากกว่าสองพันข้อความ ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นข้อหัว และประเด็น ดังนี้

61% มองว่า การลดใช้ถุงพลาสติกให้เริ่มจากที่ตัวเราเองก็ช่วยได้: หลายๆ คนมองว่าการเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว ก็สามารถช่วยได้ เช่น การพกถุงผ้า, การใช้แก้วน้ำพกพามาใช้ แทนการซื้อขวดน้ำพลาสติก, การนำกล่องใส่อาหารมาใช้แทนเวลาไปสั่งข้าว, การนำพลาสติกมาใช้ซ้ำ หรือแม้แต่ร้านขายของออนไลน์ ก็ยังมีการปรับตัวในเรื่อง การลดพลาสติก แล้วหันมาใช้ กระดาษเพื่อช่วยในเรื่องกันกระแทกสินค้าแทน

12% มีการพูดถึง Design Packaging ของสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อเลี่ยงการใช้พลาสติกและใช้เท่าที่จำเป็น เช่น ที่ประเทศเกาหลีใต้ มีการวางขายขวดน้ำแบบไม่มีฉลาก และยังมีการเปลี่ยนจากขวดน้ำเป็นกระป๋องอะลูมิเนียม

หรือตัวอย่างอื่นๆ เช่น การดีไซน์กระป๋องเบียร์โคโรน่าในประเทศเม็กซิโก ถูกออกแบบให้หมุนซ้อนต่อกันได้ถึง 10 กระป๋อง ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก ก็มีคนให้ความสนใจจนทำให้เกิดยอด Retweet สูงถึง 29,733 Retweet (33,584 Engagement)

แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนิชชิน ก็ประกาศเลิกใส่สติกเกอร์แปะฝาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อลดขยะพลาสติก แล้วเปลี่ยนเป็นฝาแบบมีส่วนยื่นมา 2 อัน ให้เหน็บขอบถ้วยแทนก็ได้รับความสนใจเช่นกัน นอกจากจะช่วยลดพลาสติกแล้วยังทำฝาด้านในออกมาเป็นรูปแมว น่ารักๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ เช่น แชมพูบาร์ก้อน ที่ไม่ต้องมีการใช้บรรจุภัณฑ์ ที่เป็นพลาสติก อีกด้วย

11% มองว่าการลดใช้ถุงพลาสติกช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ มีการแสดงคิดเห็นว่า มันเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะคือการผลักภาระมาให้กับผู้บริโภคหรือภาคครัวเรือน ที่จะต้องมาปรับตัว และอีก 11% ก็มองว่ารัฐ ควรออกนโยบาย หรือมีบทบาทในการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม ควรเปลี่ยนที่ตัวระบบการจัดการ กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพราะจะทำให้การลดใช้ถุงพลาสติกเห็นผลมากขึ้น

3% มีการพูดถึงเรื่องหาวัสดุธรรมชาติมาทดแทนการใช้ถุงพลาสติก เช่น การใช้กล่องข้าวแบบชานอ้อย, การใช้กระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายอย่าง Tetra Pak ที่ผลิตจากกระดาษเป็นหลักและรีไซเคิลได้ ไม่เพียงส่งผลดีต่อผู้บริโภคเท่านั้น ยังรวมถึงส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

แล้วยังมีการออก Product ใหม่ๆ เช่น Eternal Calendar ปฏิทินเซรามิกที่ใช้ซ้ำได้ตลอดกาล คือผลงานจากแบรนด์ mamo ซึ่งตั้งใจอยากให้ใช้เซรามิกเพื่อช่วยลดการใช้พลาสติก นอกจากนี้ยังมี การใช้ผักตบชวาแห้งมากันกระแทกในกล่องพัสดุ อีกด้วย

เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน แบรนด์ก็ต้องปรับ ให้เกิด Win-Win-Win = ผู้บริโภคได้-แบรนด์ได้-โลกได้ ดังตัวอย่างแคมเปญของ Café Amazon ที่นับว่าประสบความสำเร็จกันจนเกินความคาดหมาย ตั้งแต่วันที่แบรนด์ประกาศว่า จะแจกแก้วน้ำพลาสติก Reusable Cup 5 สีตามวัน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตเฉพาะของคนไทย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ การเข้าแถวคิวยาวทะลุไปนอกร้านทั้ง 5 วัน และกลายเป็นกระแสฮอตติดเทรนด์โซเชียลอย่างทวิตเตอร์ ภายในข้ามคืนเลยทีเดียว

ที่ทำให้บรรดาแฟนคลับและสายสะสมของ Café Amazon ตามล่าสะสมให้ครบทุกสี กับ Limited Edition นี้ ต้องรีบเข้าร้าน Café Amazon ทุกเช้า เพื่อให้ได้แก้วครบทั้งห้าสีกันไปเลย และที่ท้าทายกว่านั้นคือ มีกรณีที่ลูกค้าอยากได้สีที่ต้องการ แต่สีนั้นอาจไม่ได้ขายในวันนั้นๆ ทำให้ลูกค้าได้ลุ้นเหมือนมาเล่นเกมด้วย นับว่าเป็นแคมเปญสร้างสีสัน ให้ทั้งผู้บริโภคที่เต็มไปด้วยความเบื่อหน่ายและความเครียดกับภัยโควิด และสร้างสีสันให้กับแบรนด์ ที่มาพร้อมกับ Message รักษ์โลก นับว่าเป็นตัวอย่างแคมเปญ Win-Win-Win ได้ดีทีเดียว

บทความโดย INTAGE (Thailand) Co., Ltd.

Tags:

ผู้เขียน
INTAGE (Thailand)

INTAGE (Thailand) Co., Ltd.

สมัครรับข่าวสาร

logo